ยื่นหนังสือ ! จี้ “สผ.” ทบทวนทุนใหญ่ ผุดโครงการโรงแรมหรูกลางเมืองเชียงใหม่

ทางเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการด้านการอนุรักษ์เมืองในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนความเหมาะสมหลังจากที่มีข้อมูลว่ากลุ่มทุนใหญ่ระดับประเทศกำลังดำเนินโครงการลงทุนก่อสร้างโรงแรมขนาด 80 ห้องสูง 13 ชั้น บนพื้นที่เดิมที่เป็นที่ตั้งของห้างตันตราภัณฑ์ ซึ่งเป็นห้างแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ บนถนนท่าแพ ในตัวเมืองเชียงใหม่ หลังเพิ่งทราบว่ามีการดำเนินโครงการมาถึงขั้นที่กำลังจะมีการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ครั้งที่ 2 โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยทราบมาก่อน ซึ่งทางคณะกรรมอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่และปริมณฑลภาคประชาชน จึงได้ทำหนังสือลงวันที่ 10 มิ.ย. 63 ถึงเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขอให้ทบทวนผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าว

เมื่อ 11 มิ.ย. 2563 นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ประสานงานคณะกรรมการอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่ และปริมณฑลภาคประชาชน เปิดเผยว่า คณะกรรมการอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่ และปริมณฑลภาคประชาชน ทำหนังสือลงวันที่ 10 มิ.ย. 63 ส่งถึงเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้ว เพื่อขอให้ขอทบทวนผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการ Cosi Chiangmai ของบริษัท โคซี่ โฮเต็ล จำกัด เนื่องจากจากภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ ประชาชนในย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ และนักวิชาการ ได้รับทราบข้อมูลว่า กำลังจะมีโครงการก่อสร้างอาคารสูงของโรงแรม Cosi Chiangmai ในเครือเซ็นทารา โดยบริษัท โดซี่ โฮเต็ล จำกัด ขึ้นที่บริเวณถนนท่าแพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีความสูงประมาณ 13 ชั้น หรือไม่เกิน 40 เมตร ซึ่งการสร้างอาคารขนาดใหญ่สูง 13 ชั้น ที่มีรูปแบบทันสมัยบนถนนเส้นสำคัญโดยไม่คำนึงถึงภูมิทัศน์วัฒนรรมของเมืองและบริบทโดยรอบ ถือว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่งและจะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการยื่นข้อเสนอ เพื่อพิจารณาขอขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก จึงยากที่จะยอมรับได้

โดยในการนี้ภาคประชาสังคมเชียงใหม่ฯ ได้ร่วมประชุมหารือกันในวันที่ 8 มิ.ย. 63 ด้วยมีข้อกังวลและมีความประสงค์ที่จะขอยื่นคำร้องต่อเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดอม (EIA) ได้โปรดทบทวนผลการพิจารณาในเบื้องต้นของโครงการโรงแรม Cosi Chiangmai ที่มีที่ตั้งอยู่ห่างจากเขตเมืองเก่า ที่มีเทศบัญญัติบังคับควบคุมเพียง 109 เมตรเท่านั้น โดยมีเหตุผลว่า ถนนท่าแพ ถือเป็นถนนเส้นสำคัญระดับสูงของเมืองเชียงใหม่ที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ การวางผังเมือง และวัฒนธรรมประเพณี ทำหน้าที่เชื่อมโยงพื้นที่หน้าเมืองบริเวณริมแม่น้ำปิงเข้าสู่เมืองเก่าเชียงใหม่ที่มีดอยสุเทพเป็นฉากหลัง

นอกจากนี้เป็นเส้นทางหลักในการประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อของคนเชียงใหม่ อาทิเช่น ประเพณีปีใหม่เมือง (สงกรานต์) ที่แห่พระพุทธรูปสำคัญผ่านถนนท่าแพเข้าสู่เมืองเก่า, สองข้างทางประกอบด้วย วัด เรือนร้านค้า และบ้านเก่าที่มีคุณค่าโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมล้านนา และบอกเล่าถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ โดยที่ระดับความสูงเฉลี่ยของอาคารในย่านท่าแพเดิมอยู่ที่ประมาณ 16 เมตร จึงไม่บดบังทัศนียภาพอันงดงามของเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกันเมืองเชียงใหม่ได้รับการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ จากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 53 เพื่อให้เมืองเก่าเชียงใหม่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความเจริญรุ่งเรือง ด้านศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติต่อไป อีกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักวิชาการกำลังร่วมกันขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ สู่เมืองมรดกโลก (ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5) เพื่อใช้เครื่องมือที่เป็นมาตรฐานสากลในการปกปักรักษามรดกทางวัฒนธรรม

ทั้งนี้แม้ว่าที่ตั้งของโครงการโรงแรม Cosi Chiangmai ณ ปัจจุบันไม่มีความขัดแย้งใด ๆ ตามกฎกระทรวงผังมืองรวมเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2555 หรือกฎกระทรวงฉบับอื่น ๆ ที่ประกาศใช้บังคับ และเทศบัญญัติเทศบาลนครเชียงใหม่ฯ พ.ศ. 2557 แต่ด้วยที่ตั้งของโครงการอยู่ในตำแหน่งบนแนวแกนถนนหลักด้านหน้าเมือง และประชิดติดเมืองเก่าเชียงใหม่ ที่กำลังจะเสนอเป็นพื้นที่มรดก (Property Zone) และตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ตามขอบเขตพื้นที่ในเอกสารข้อเสนอแหล่งมรดกเชียงใหม่ เมืองหลวงของล้านนา พื้นที่เมืองเก่าและพื้นที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่กำลังดำเนินการจัดทำร่างแผนการจัดการ (Management Plan) โดยได้มีการเสนอความคิดเห็นต่อบริษัทที่ปรึกษาในการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ในประเด็นของการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปรับลดความสูงอาคาร รูปแบบอาคาร และอื่น ๆ รวมทั้งมีการเตรียมการร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อปรับปรุงเทศบัญญัติให้มีคุณภาพดีขึ้นขณะเดียวกันที่ผ่านมาการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการ เพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ Cosi Chiangmai นั้น ยังไม่มีกระบวนการที่ดีพอ ในประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและการทำประชาพิจารณ์ ทำให้ผู้อยู่อาศัยโดยรอบพื้นที่และคนในมืองเชียงใหม่ ไม่ได้รับทราบข้อมูลโครงการฯ แต่แรก และร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ จึงมีข้อกังวลว่า หากโรงแรม Cosi Chiangmai ได้รับการอนุญาตก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ ผังมือง คติความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีของคนท้องถิ่น และทัศนียภาพของเมืองอย่างรุนแรง

ดังนั้นจึงร้องขอให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง ทบทวนผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางประวัติศาสตร์และวัฒนรรมของเมืองเชียงใหม่ร่วมด้วย เพราะถนนท่าแพและภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเมืองเก่าเชียงใหม่เป็นสมบัติส่วนรวมที่คนเชียงใหม่ต้องการปกปักรักษาไว้เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนรรมให้ลูกหลาน รวมทั้งเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สร้างงาน สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย พร้อมทั้งอยากขอให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและเปิดเผยเป็นสาธารณะด้วย เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันถึงความสูงอาคาร ขนาดมวลอาคาร (Mass) และรูปลักษณะอาคารที่สอดคล้องกับความเป็นเมืองเก่าเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น