หวั่นตึกสูงเชียงใหม่ กระทบแผนมรดกโลก จี้ปกป้องเมืองเก่าก่อนทัวร์เมิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่ ระบุการเคลื่อนไหว ยืนเอกสารต่อหน่วยงานท้องถิ่น และสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เกี่ยวกับการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ. ซึ่งโครงการที่จะก่อสร้างสูง 40 เมตรต้องดำเนินการ
“เป้าหมายไม่ได้ขัดขวางการลงทุน ที่จะปักหลักสร้างโรงแรมสูงกว่า 40 เมตร หรือประมาณ 13 ชั้น บริเวณที่เคยเป็นห้างดัง ย่านถนนแพ หรือเป็นอุปสรรคในบริบทด้านเศรษฐกิจ สังคมที่ต้องเป็นไปตามยุคสมัย แต่ประสงค์ให้เกิดความตระหนักต่อคุณค่า ประวัติศาสตร์เมืองโบราณ กว่า 724 ปี ที่กำลังมุ่งมั่นสู่ความเป็นมรดกโลก”

กลุ่มนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ความพยายามที่จะอนุรักษ์เมืองเก่า ควบคู่ไปกับการขยายตัวของเมือง ในรูปแบบเมืองร่วมสมัย มีพื้นที่กันชนระหว่างเมืองโบราณกับส่วนที่จะพัฒนานั้น หากพิจารณาเฉพาะเขตคูเมืองด้านใน ถือว่าล้มเหลว แม้จะมีการประกาศเทศบัญญัติ เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 10 ก.พ. 2563 ข้อบังคับไม่มีผลย้อนหลัง
“อาคาร สิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นมีบางส่วนก่อสร้างไม่นานด้วยซ้ำ สูงเกินกว่า ข้อกำหนด ใน (30) ข้อ 1 ที่ระบุว่า ในระยะ 6 เมตร จากโบราณสถาน ซึ่งขึ้นทะเบียนว่าด้วย พ.ร.บ.โบราณสถานฯ พ.ศ. 2504 รายละเอียดต่าง ๆ กำหนดชัดเจน แต่มีข้อ 10 ระบุ ไม่มีผลย้อนหลัง ทุกอย่างก็จบ บางอาคารสูงกว่ายอดเจดีย์ ติดกำแพงวัด สร้างในวัดเก่าแก่ก็ยังมี”

น.ส.เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ประสานงานคณะกรรมการอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่ และปริมณฑลภาคประชาชน ระบุว่า ในวันที่ 17 มิ.ย. นี้ ทราบว่าทาง สผ.จะพิจารณาอีไอเอ. เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งหลาย ๆ ฝ่ายกังวลกับทัศนียภาพ ถนนท่าแพ ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นทางรับแขกบ้าน แขกเมือง ด้วยมีการจัดกิจกรรม งานประเพณีสำคัญ ๆ ของเชียงใหม่ ที่ใช้พื้นที่ถนนท่าแพ มายังข่วงท่าแพ แลนด์มาร์คของเมือง

ด้านหน่วยงานท้องถิ่น ยืนยันว่า การยื่นเรื่องขออนุญาตก่อสร้าง ถ้าเป็นโครงการอาคารสูงเกินกว่าที่กำหนด ก็ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานภาคบริการ เมื่อภาคเอกชน ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบก็ต้องพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งต้องแยกประเด็นให้เข้าถึงถึงบริบท หน่วยงาน ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายด้วย

“การยื่นขอและออกใบอนุญาตก่อสร้าง จะมีทั้งรูปแบบบ้านพักอาศัย โรงแรม อาคารพาณิชย์ ต้้งแต่หลังปี 2557 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎกระทรวงผังเมืองใหม่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับสถานการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจโลก ทำให้การลงทุนชะลอไป จะมีกลุ่มที่ยื่นเรื่องไว้ และได้รับอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง ก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามตรวจสอบ ตามขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่นและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง”
ทั้งนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2555 เป็นเครื่องมือในการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และมี พ.ร.บ.ผังเมืองฯ แบ่งเขตเป็นสีในการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละพื้นที่ กำหนดประเภทและความสูงของอาคารไว้ เช่น เขตอนุรักษ์จะอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ กำหนดความสูงอาคารไม่เกิน 12 เมตร ห้ามเป็นอาคารประเภทตึกแถว บ้านแถว อาคารพาณิชย์ ต้องมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ และกำหนดรูปทรงหลังคาเป็นแบบล้านนา เป็นต้น

เครือข่ายอนุรักษ์ เมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า รอยต่อของผังเมืองแต่ละฉบับจนมาถึงฉบับปี 2555 และที่กำลังแก้ไขอยู่นั้น มีผลต่อการเกิดขึ้นของโครงการอาคารสูง เนื่องจากไม่มีกฎหมายควบคุมและกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน เหมือนช่วงหลังปี 2555 ที่กระแสอนุรักษ์เมืองเก่าเกิดขึ้นทุกเมืองท่องเที่ยว
“แต่ช่องโหว่ของกฎระเบียบ ที่กว่าจะออกมาเป็นเทศบัญญัติ เป็นประกาศผ่อนผันกำหนดพื้นที่ ความสูงของอาคาร ก็ทำให้มีโครงการต่าง ๆ สร้างบดบังทัศนียภาพ ลดทอนความทรงคุณค่าของแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ ของเมือง แม้ช่วงปี 2558 ที่เมืองเชียงใหม่ระดมความร่วมมือ ผลักดันเมืองสู่เมืองมรดกโลก จนได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีเบื้องต้น ก็คงรอว่าจะได้การประกาศเป็นเมืองมรดกโลกเมื่อใด”

ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ในเขตคูเมืองชั้นในของเชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเชียงใหม่ นำการท่องเที่ยวมาเป็นแกนสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้สู่เมือง  ชาวบ้านดั้งเดิม ก็ขายที่ดิน ขายบ้าน แห่ย้ายไปอยู่รอบนอก เพราะในเมืองรถติด สภาพแวดล้อมชุมชนเปลี่ยนไป บางย่านเป็นสถานบันเทิง แหล่งชุมชน ที่พักคนเดินทาง มีสารพัดรูปแบบตั้ง แต่เกสต์เฮ้าท์ โรงแรม บาร์ ผับ วุ่นวายไม่น่าอยู่
“จนกระทั่งโรคโควิด-19 ระบาด สภาพบรรยากาศเมือง ที่มีนักท่องเที่ยวมากมายเงียบเหงา ทำให้ชาวเชียงใหม่ เริ่มเรียนรู้ว่า เศรษฐกิจ ชุมชนเมืองควรจะก้าวไปในทิศทางใด บรรดาอาคาร ที่พัก ที่กำลังสร้างและจะสร้างหรือที่มีอยู่นั้น ต้องคำนึงถึงคุณค่าเมืองที่ถูกเปลี่ยนแปลง อาจจะส่งผลให้ นักท่องเที่ยวเมิน เลี่ยงไปทัวร์แหล่งอื่น ที่มีสีสันทรงคุณค่ากว่าได้”

ร่วมแสดงความคิดเห็น