(มีคลิป) “เรือนมิชชั่นนารี” หรือ “บ้านฝรั่ง” ที่เมืองแพร่ อายุ 137 ปี เรือนไม้สักโบราณ รอพี่น้องชาวแพร่ให้ความภาคภูมิใจ

ผู้สื่อข่าว จ.แพร่ รายงานมาว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงที่พี่น้องชาว จ.แพร่ กำลังอยู่ในระหว่างการทำใจกับเหตุการณ์การรื้อถอนบ้านบอมเบย์เบอร์มา อายุ 130 ปี แต่ก็ยังมีบ้านอีก 2 แห่ง ที่พี่น้องชาว จ.แพร่ ยังเก็บรักษาไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้ศึกษา นั่นคือ “เรือนมิชชั่นนารี” หรือ “บ้านฝรั่ง”ที่ชาว จ.แพร่ ชอบเรียกกัน

นายปัณณพงศ์ ท้าวอาจ ผอ.กศน.จ.แพร่ เผยว่า “เรือนมิชชั่นนารี” หรือ “บ้านฝรั่ง” เป็นชื่อเรียกบ้านเรือนไม้สักชั้นเดียว ยกสูงของมิชชั่นอเมริกา ที่เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาที่เมืองแพร่ เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เรือนมิชชั่นนารี มีจำนวน 2 หลัง เรือนหลังแรกอยู่ในบริเวณ รพ.แพร่คริสเตียน ส่วนเรือนหลังที่ 2 อยู่ในบริเวณสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย( กศน.จ.แพร่ ) ถนนยันตรกิจโกศล ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ

ผอ.กศน.จ.แพร่ เล่าว่า เมื่อปี 2406 ( ค.ศ.1863 ) ศาสนาจารย์ แมคกิลวาลี และศาสนาจารย์ โจนาธาน วิลสัน เดินทางมาสำรวจที่ จ.เชียงใหม่เป็นแห่งแรก เพื่อหาลู่ทางในการตั้งศูนย์มิชชั่นเผยแพร่ศาสนาคริสต์ แต่การสำรวจครั้งนั้น ยังไม่มีการตั้งศูนย์มิชชั่นขึ้น เนื่องจากความไม่พร้อมหลายประการ  จนกระทั่งปี 2410 ( ค.ศ.1867 ) ครอบครัวของศาสนาจารย์ดาเนียล นางโซเฟีย แมคกิลวารี และบุตรได้เดินทางมาประกาศศาสนาคริสต์ล้านนา ณ จ.แพร่

ในปี 2437 ( ค.ศ.1894 ) ศาสนาจารย์ ดร.พีเพิล พร้อมคณะ ก่อสร้างสถานพยาบาลขนาดเล็กขึ้น เพื่อใช้ตรวจรักษาโรคแก่ผู้ป่วย โดยไม่คิดค่ารักษาพยาบาล ในขณะเดียวกันได้จัดสร้างโรงเรียนสอนหนังสือสำหรับเด็กชาย-หญิงขึ้น (โรงเรียนเจริญราษฎร์ ) และได้สร้างบ้านพักมิชชั่นนารี จำนวน 2 หลัง และโบสถ์คริสต์ศาสนาสำหรับนมัสการพระเจ้า

ปี 2484 (ค.ศ.1941) เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นยกพลเข้าประเทศไทย รัฐบาลไทยจำเป็นต้องทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา ทำให้แพทย์ชาวอเมริกันต้องอพยพหนีไปสู่ประเทศพม่า โรงพยาบาลอเมริกันถูกยึดเป็นของรัฐบาลไทย และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพหลโยธิน ข้าวของของมิชชั่นนารีถูกยึดและทำลาย ทำให้เอกสารสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินสูญหายไป หลังจากสิ้นสุดสงครามสงบที่ดินของโรงพยาบาล ถูกเรียกคืนเป็นที่ดินของราชพัสดุ

ปี 2532 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ.แพร่ ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ในวงเงิน 4,600,000 บาท โดยดำเนินการก่อสร้างอาคารในพื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 12 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเจริญราษฎร์ (เรือนมิชชั่นนารีหลังที่ 2) บริเวณถนนยันตรกิจโกศล ต.ในเวียง โดยกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้จ่ายเงินชดเชยค่าที่ดินดังกล่าว แก่โรงเรียนเจริญราษฎร์เป็นวงเงิน 1,500,000 บาท ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงาน กศน.จ.แพร่ จนถึงปัจจุบันนี้

ผอ.กศน.จ.แพร่ เล่าอีกว่า สำหรับเรือนมิชชั่นนารีหลังที่ 2 ซึ่งอยู่ในความดูแลของ กศน.จ.แพร่ คาดว่า ก่อสร้าง ราวปี 2426 จนถึงปัจจุบัน เรือนไม้สักหลังนี้มีอายุถึง 137 ปีแล้ว สภาพทั่วไปของเรือนมิชชั่นนารี เป็นเรือนไม้สักชั้นเดียวใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องว่าว ตกแต่งช่องลมประตูด้วยลายฉลุขนมปังขิง ลูกบิดกลอนประตูเป็นเหล็กหล่อจากยุโรป เรือนไม้สักหลังนี้มีขนาดใหญ่ แบ่งได้เป็น 10 ห้อง และมีห้องใต้หลังคาขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่า เป็นห้องนอนลูกชายมิชชั่นนารี ( หรือเป็นห้องลับสำหรับหนีภัยสงคราม ) ถูกออกแบบให้ห้องใต้หลังคามีหน้าต่างบานสูง ทำให้บ้านเย็นเพราะมีการระบายถ่ายเทอากาศที่ดี จากโครงสร้างและรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเรือนมิชชั่นนารีแล้ว เชื่อว่า เป็นการนำความรู้ทางสถาปัตยกรรมของชาติตะวันตก มาใช้ออกแบบโครงสร้างอาคาร ให้มีรูปแบบแปลกตา สังเกตได้จากการออกแบบห้องใต้หลังคา รวมทั้งบริเวณพื้นไม้ชั้นล่าง ทำโครงสร้างไม้เป็นรูปกากบาท ช่วยรองรับน้ำหนักทำให้ตัวเรือนมีความมั่นคงแข็งแรงมากกว่าบ้านไม้สักทั่วไป

นอกจากนี้ หน้าต่าง ประตู รวมทั้งระยะความสูงของเพดานที่ได้สัดส่วนเหมาะสม เพราะผ่านการคิดคำนวณตามหลักสถาปัตยกรรมของชาติตะวันตก และมีการตกแต่งภายในด้วยอุปกรณ์ก่อสร้าง ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น หน้าต่างเป็นบานไม้ลูกฟักกระจก ลูกบิดกลอนประตูเป็นเหล็กหล่อจากยุโรป มีตะขอปรับระดับความกว้างของหน้าต่างได้ และผนังด้านในกรุไม้สักเป็นผนังสองด้านหนาประมาณ 1 ฟุต เพื่อป้องกันอากาศหนาวเย็น

“เรือนมิชชั่นนารี” หรือ “บ้านฝรั่ง” ที่ตั้งอยู่ใน กศน.จ.แพร่ เป็นสินทรัพย์ที่ติดมากับที่ดินราชพัสดุ เมื่อปี 2552 ผอ.สนิท กาญจนประดิษฐ์ อดีตผู้ ผอ.สำนักงาน กศน.จ.แพร่ ได้เข้ามารับตำแหน่ง ผอ.กศน. พบว่า ตัวเรือนมิชชั่นนารีเก่าทรุดโทรมมาก จึงตั้งใจอนุรักษ์เรือนไม้สักโบราณแห่งนี้ ให้กลายเป็นมรดกของแผ่นดินก่อนที่จะสูญหายไป ได้รับงบพัฒนาจาก จ.แพร่ จำนวน 200,000 บาท มาเพื่อยกระดับบ้าน หรือดีดบ้าน ดำเนินการโดยช่างผู้ชำนาญการจากจ.พิจิตร และได้จัดผ้าป่าสามัคคีจากนักศึกษา ในสังกัด กศน.และผู้ใจบุญจากหลายภาคส่วน มีการเปลี่ยนหลังคาซึ่งเป็นปูนซีเมนต์ เสามีการหล่อเสาตอหม้อรองรับเสาไม้สัก ซึ่งเป็นเสาสี่เหลี่ยม ทำให้คงทนถาวร

เมื่อ “เรือนมิชชั่นนารี” หรือ “บ้านฝรั่ง”ได้รับการปรับปรุง มีใต้ถุนสูง ทำให้เป็นที่จัดกิจกรรมของนักศึกษา กศน.จ.แพร่ และบนตัวอาคาร มีห้อง ถึง 10 ห้อง ชั้นบนสุดเป็นห้องประชุม ที่ กศน.จ.แพร่ ใช้จัดงานสำคัญ ๆ มาหลายครั้ง เช่น กศน.จ.แพร่ ร่วมกับ วัฒนธรรม จ.แพร่ จัดโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีไทย-อเมริกา ผอ.กศน.กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้มีแนวคิดที่จัดทำบ้านฝรั่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เรามี กศน. 8 อำเภอ ก็จะให้มาดำเนินการจัดแหล่งเรียนตามห้อง

ใครที่มาเที่ยว จ.แพร่ สามารถแวะเข้ามาศึกษาได้ที่นี่ จะทราบประวัติศาสตร์ จ.แพร่เลย แต่ยังขาดงบประมาณสนับสนุน กำลังคิดหาหนทางด้านงบประมาณอยู่ สมบัติ “เรือนมิชชั่นนารี” หรือ “บ้านฝรั่ง” เป็นสมบัติของคนแพร่ เราต้องช่วยกันรักษาไว้ชั่วลูกหลาน บ้านฝรั่ง หรือ เรือนมิชชั่นารี จะไม่มีใครมาทำลายลงได้ เนื่องจาก คณะกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ พิจารณาตัดสินให้ “ เรือนมิชชันนารี (กศน.) ” ได้รับรางวัลชมเชย อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารสถาบัน ประจำปี 2555

ร่วมแสดงความคิดเห็น