ขุมทรัพย์ท้องถิ่น งบปีหน้า 7.9 แสนล้าน ไม่เลือกตั้งไม่ได้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีปัญหางบจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีกระแสว่า มีการโยกย้ายไปช่วยสกัดโรคโควิด-19 จนอาจส่งผลกระทบต่อการชลอเลือกตั้งท้องถิ่น จนเกิดกระแสบานปลายจากสังคม เคลื่อนไหวทวงถามเหตุผลที่ดึงเกมส์เลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งผู้บริหารและสมาชิกสภา ชุดรักษาการไปพลางๆน๊อครอบ 2 สมัย จ่อเข้าวาระที่ 3 กันทั้ง7,852 อปท.
จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีต้องออกมาแก้ปมปัญหา ป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเหนือความคาดหมายโดยระบุว่า “ปีนี้จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ได้สักอย่าง”

ล่าสุดคณะทำงานการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ได้เปิดเผยข้อมูล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กสถ.) กระทรวงมหาดไทย ที่ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้สำรวจข้อมูลรายการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
ข้อมูลพบว่า มี 13 จังหวัดที่เตรียมความพร้อมครบถ้วน (ไม่นับ กทม.) ส่วนจังหวัดที่ยังไม่ได้รายงานถึงกสถ.มี 43 จังหวัด ส่งข้อมูลไม่ครบมี 20 จังหวัด  และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประมาณ 420 แห่งแจ้งว่า มีงบไม่เพียงพอ จำเป็นต้องขอรับเงินอุดหนุนมีตั้งแต่ 1-8 แสนบาท บางอปท.ขอเกือบ 20 ล้านบาท

 

ทั้งนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นไปตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 อยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรี และจะใช้งบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ส่วน กกต. มีหน้าที่กำกับดูแลในส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้ง และคัดเลือกคณะกรรมการเลือกตั้งประจำ อปท. โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ยังเหลืองบจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นประจำปี 2563 อยู่ 800 ล้านบาทและพร้อมดำเนินการทันทีที่รัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น จากการตรวจสอบด้านการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2564 ให้ กสถ.นั้น สำนักงบประมาณระบุว่าได้คำนึงถึงประเด็น แนวทางที่มีการแสดงความคิดเห็นของผู้บริหารท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้อปท.มีงบประมาณเพียงพอต่อภารกิจเดิมและที่ต้องรับถ่ายโอน สามารถให้บริการสาธารณะ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ต้องการของประชาชนแต่ละพื้นที่ ไม่กระจุกงบเฉพาะอปท.ในเมืองใหญ่ ๆ

 

 

“มีการจัดสรรงบอุดหนุนให้อปท. 322,250.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 จำนวน 15,262.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยะ 4.97 และเพื่อให้ อปท. สามารถดำเนินภารกิจตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ อปท. พ.ศ. 2542 จึงจัดสรรงบให้ร้อยละ 29.5 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล (ไม่รวมเงินกู้ ) จำนวน 798,803.34 ล้านบาท ลดลงจากงบปี 2563 เพียง 14,06.86 ล้านบาท”

ด้านแกนนำพรรคการเมืองดัง ในภาคเหนือกล่าวว่า คณะกรรมการพรรค และบรรดา สส.ในพื้นที่ รวมถึงผู้นำชุมชน ติดตาม ตรวจสอบ การเตรียมพร้อมของงบเลือกตั้งท้องถิ่น พบอปท. ส่วนใหญ่ มีงบประมาณเพียงพอในการจัดการเลือกตั้ง โดยใช้งบประมาณตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ หรือบางแห่งต้องโอนงบประมาณจากรายการที่เหลือจ่ายหรือรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องจ่าย ซึ่งวิธีการด้านงบประมาณ บรรดานักการเมืองท้องถิ่นรู้และเข้าใจกันดีทั้งนั้น
“ช่วงนี้แต่ละอปท.เร่งจัดทำรายการงบปี 2564 เพื่อเสนอสภาท้องถิ่น อนุมัติในหลักการ ตั้งงบ ตั้งเรื่องรอใช้จ่ายประจำปีงบปี 2564 ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับ 1 ต.ค.นี้  หากมีการประกาศเลือกตั้งบรรดาผู้บริหารท้องถิ่นที่รักษาการพลาง ๆ ต้องยุติ หน้าที่หมด เข้าใจดีว่า ให้โอกาสปฏิบัติงาน แต่ทำมาจนจะเข้าวาระที่ 3 น่าเปิดทางให้คนอื่นแสดงฝีมือบ้าง และงบปี 2564 ก็เห็นตัวเลขๆกันอยู่ งบอุดหนุน บวกงบจัดสรรร้อยละ 29.5 ตัวเลขไม่น้อย เกือบ 1 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือนก่อนสิ้นปีงบ 2563 อะไร ๆ ก็น่าจะลงตัว ถ้าขืนดึงเลือกต้งท้องถิ่นออกไป จะไม่มี ฝ่ายประจำกล้าทำงาน เนื่องจากมั่นใจว่า ผู้บริหารชุดเดิม ในจำนวน 7,852 อปท. อาจจะมีการเปลียนแปลงบ้าง ก็เลยทำตัวเกียร์ว่าง ไม่เปลืองตัว รอว่าใครจะไปใครจะมา”

 

ในการเลือกตั้งท้องถิ่น 7,852 อปท. นับรวม กทม.และเมืองพัทยา แบ่งเป็น นายก อบจ. 76 ตำแหน่ง ส.อบจ.2,316 ตำแหน่ง, นายกเทศบาลนคร 30 ตำแหน่ง, สท. 720 ตำแหน่ง, นายกเทศบาลเมือง 179 ตำแหน่ง, สท. 3,222 ตำแหน่ง, เทศบาลตำบล 2,233 ตำแหน่ง, สท. 26,796 ตำแหน่ง, นายก อบต.5,332 ตำแหน่ง, ส.อบต. 26,960 ตำแหน่ง รวม 97,940 ตำแหน่ง
ปัจจุบันบาง อบต.มีการระกาศให้ยกสถานะเป็นเทศบาลตำบลหลายแห่ง แต่จำนวนเปลี่ยนแปลงไม่มากเครือข่ายตรวจสอบการทุจริตภาคประชาสังคม ภาเหนือ อ้างอิงผลวิจัยและการตรวจสอบเชิงพื้นที่พบว่าในระดับ อบต.นั้นค่าใช้จ่ายในสนามแข่งขัน ส.อบต.เฉลี่ย 1 แสน-1 ล้านบาท, นายก ราว ๆ 1-5 ล้านบาท ระดับ สท.ทุกสนาม เฉลี่ยใกล้เคียงกัน แต่ ระดับนายกเทศมนตรี  ขึ้นกับสนามชิงชัย จะเป็นตำบล, เมืองหรือนคร โดยเฉลี่ยประมาณ 5-150 ล้านบาท ส่วน อบจ.นั้นระดับสมาชิก 1 แสน-2 ล้านบาท ระดับนายก อยู่ที่สนามแข่งขัน โดยเฉลี่ย 5-200 ล้านบาท ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงข้อมูลเลือกตั้ง อปท.ที่ผ่าน ๆ มา

” น่าแปลกใจกับอัตราเงินเดือนที่ไม่มาก  และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรม ทางการเมือง สร้างภาพลักษณ์ให้ชุมชน สังคมในพื้นที่ยอมรับ รวมถึงดูแล เครือข่ายหัวคะแนน ก็ยังแย่งแข่งขัน บางพื้นที่ถึงขั้นเอาเป็นเอาตายกัน เพื่อขออาสารับใช้พ่อแม่พี่น้อง ปีนี้ยังไง ๆ คงมีเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งน่าจะเป็น กทม., เมืองพัทยา และ อบจ. นำร่องไปก่อน  แล้วตามด้วยเทศบาล และ อบต.ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพโครงการต่างๆของรัฐในชุมชน  ที่จะจ้องร้องเรียนกัน วุ่นวายไปหมด แค่ รองฯ วิษณุ พลาดไปก็มีการยื่นร้องศาลหลายกลุ่ม

ร่วมแสดงความคิดเห็น