รื้อรุกคลองแม่ข่า จัดระเบียบฮุบที่เมืองเก่าเชียงใหม่

เครือข่ายชุมชนดูแลคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา นครเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีการรื้อที่พักอาศัย 4 หลังสุดท้ายบริเวณคลองเงินชุมชนป่าแพ่ง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามแผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ. 2561-2565)  ที่มีการบูรณาการความร่วมมือกันหลายภาคส่วนเข้ามาจัดการชุมชนที่สร้างที่พักคร่อมลำเหมืองสาธารณะลำน้ำสาขาแม่ข่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 แล้ว
“มีความพยายามแก้ปัญหาการบุกรุกลำเหมือง พื้นที่ 2 ฝั่งคลองแม่ข่ามาโดยตลอด จนกระทั่งรื้อย้ายบางส่วนกว่า 43 หลังคาเรือนออกไปได้ ในปี พ.ศ 2561  ส่วนที่เหลือดำเนินการตามขั้นตอน ให้เวลาขนย้ายออกไป ตามคำสั่งศาล จนถึงที่สุดก็มีการส่งเครื่องจักรกลเข้าไปรื้อถอนกลุ่มที่เหลือ”

ทั้งนี้คณะทำงานสภาพลเมืองเชียงใหม่, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ตลอดจนศูนย์คนไร้บ้าน ไร้ที่พักพิง เชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่ เป็นเมืองใหญ่ เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดต่อการเคลื่อนย้ายของประชากรแฝง ที่เข้ามาแสวงหาโอกาส ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดทั้งทำงาน รับจ้างทั่วไป อาชีพอิสระ และเร่ร่อน หากตรวจสอบสถิติประชากรตามฐานทะเบียนราษฎร ในพื้นที่นครเชียงใหม่ช่วงปี 2557-2561 เฉลี่ย 130,000 คน (ปี 2561 มี 129,536 คน) ไม่นับรวมประชากรแฝง ซึ่งมีอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพิจารณายุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่น แทบไม่พบการเจาะจงลงถึงชุมชนแออัด ซึ่งนับวัน ยิ่งขยายตัว สุมทับลงไปกับปัญหาเดิม ๆ ที่มีทั้งกลุ่มผู้คนต่างถิ่น ต่างด้าว บุกรุกแอบอยู่อาศัยตามแนวพื้นที่กำแพงดิน เขตโบราณสถาน ตามริมคลองแม่ข่า หรือตามแนวกำแพงบ้านเอกชน วัด อาคาร ที่รกร้าง

 

หนึ่งในผู้บริหารท้องถิ่น นครเชียงใหม่ยอมรับว่า กรณีชุมชนป่าแพ่งคลองเงิน ต.ช้างม่อย ที่มีการรื้อถอนตามคำสั่งของศาล พื้นที่บริเวณนี้ตั้งแต่ปี 2525 มีการสร้างพิงพัก ชั่วคราวหลังเล็ก ๆ อยู่อาศัย จนปลูกสร้างมั่นคงแข็งแรง และมีชาวบ้านจากที่ต่าง ๆ เริ่มเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะบริเวณลำเหมืองเล็ก ๆ สร้างเป็นที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เมื่อมีนโยบายการพัฒนาคลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข การย้ายผู้คนที่เดือดร้อนก็มีการสอบถามความสมัครใจ ที่จะย้ายไปยังที่ดินที่เตรียมรองรับ เดิมกำหนดไปแถวสันทราย ต่อมามีปัญหาก็ปรับเปลี่ยนไป  ประเด็นคือกว่า 95% ไม่ยอมย้ายไปยังที่อยู่ใหม่ อ้างว่ามีปัญหาการเดินทาง หลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งต่างพยายามแก้ไขตามกำลัง ส่วนหนึ่งไปเช่าบ้านอยู่ บางส่วนเข้าระบบขอรับความช่วยเหลือด้านพัฒนาสังคมก็มี

 

สำหรับแผนพัฒนาคลองแม่ข่าได้ดำเนินไปตามกรอบแนวทางแผนแม่บท มีชุมชน 2 ฝั่งคลองรวมทั้งหมด 27 ชุมชนช่วยกันดูแล ร่วมมือ ซึ่งการจัดกาคลองแม่ข่าต้องอาศัยเวลา ดำเนินการต่อเนื่อง ปัญหาการบุกรุก แทบไม่มีแล้ว นอกจากประเด็นเรื่องน้ำเสีย ขยะที่ต้องให้เวลาแก้ไข
“ในส่วนการจัดระเบียบที่อยู่ อาคารที่รุกแนวคลอง หรือ กลุ่มผู้อาศัยตามแนวพื้นที่กำแพงดิน โดยเฉพาะ อาคารสิ่งปลูกสร้างด้านหน้าโรงแรมดังนั้น ขั้นตอนรื้อถอนต้องรอคำสั่งศาล ซึ่งทุก ๆ แห่งที่บุกรุก ฝาฝืนกฎหมายหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายต้องถือปฏิบัติอยู่แล้ว”

อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเคยทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่เชียงใหม่ระยะหนึ่งด้วย ให้สัมภาษณ์ว่า คลองแม่ข่า กำแพงดิน และชุมชนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ปมปัญหานี้ทับซ้อนกันมาร่วม 40-50 ปี จนมีความสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งในฐานประโยชน์บางด้าน ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้ง ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อออกแบบภาพใหม่ของคลองแม่ข่า พร้อมแผนปฏิบัติการแก้ไขที่เหมาะสมกับสถานกาณ์ปัจจุบัน

“จะจัดระเบีบยกลุ่มบุกรุกกำแพงดิน, คลองแม่ข่า พื้นที่สาธารณะ เขตโบราณสถาน ต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมประกอบ ตัวอย่างคลองเงินถือเป็นโมเดลต้นแบบ ที่อาจนำไปขยาย ประยุกต์ใช้ในการทำงานบูรณาการร่วมกัน ต่อไปการสร้างอาคาร ที่พักตามพื้นที่หวงห้าม จะมีกฎหมายผังเมืองเข้ามาควบคุม ถ้ามีการฝ่าฝืนแล้ว หน่วยงานรับผิดชอบไม่แก้ไข จะกลายเป็นผู้รับผิดเอง พัฒนาการของเมือง กระบวนการต่าง ๆ เปลี่ยนไป ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจให้ดี  ไม่มีใครอยู่เหนือกฎกติกาของบ้านเมืองได้ ถ้าบุกรุกคลองแม่ข่า ฮุบพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ ทำผิดก็คือผิด โทษ จับ ปรับ ตาม พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องระบุชัด ต้องถือปฏิบัติ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น