เปิดเทอมนี้ เรียนรูปแบบใหม่ ผู้ปกครองกังวลมาตรการดูแลกลุ่มเด็กเล็ก

กลุ่มผู้ปกครองนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนดังประจำ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในการพบกันระหว่างคณะผู้บริหารสถานศึกษากับกลุ่มผู้ปกครอง เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบตารางเรียนของนักเรียน ที่จะจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน สลับวันมาเรียน ทั้งการเรียนที่โรงเรียน และที่บ้าน ซึ่งจะมีทั้งออนแอร์และออนไลน์ ทดลองดำเนินการในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปพลาง ๆ จนกว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย

มาตรการที่ผู้บริหารสถานศึกษาแจ้งนั้น ผู้ปกครองรับทราบว่าเป็นไปตามข้อแนะนำของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กลุ่มโรงเรียนใหญ่ ๆ มีจำนวนนักเรียนมาก ๆ ต้องถือปฏิบัติ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้ ต้องแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มสลับกันมาเรียนที่โรงเรียนตามตารางเรียน ส่วนที่ไม่ได้เข้าชั้นเรียน ก็จัดการเรียนการสอนผ่านห้องเรียนออนไลน์

ผู้ปกครองรายหนึ่ง กล่าวว่า ประเด็นมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น ทำความสะอาดสถานที่ จัดห้องเรียน โรงอาหารแบบเว้นระยะห่าง, วัดไข้นักเรียนก่อนเข้าโรงเรียน หากมีไข้จะให้นักเรียนกลับบ้าน, แจกหน้ากากอนามัยให้นักเรียนที่ไม่มี, จัดตั้งจุดล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างในทุกกิจกรรม เป็นต้น ผู้ปกครองทุกคนมั่นใจว่าทุกโรงเรียน คุณครูยุคใหม่ในนิวนอร์มอล จะทุ่มเท ดำเนินการด้านมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัย ปลอดโรคของเด็ก ๆ แน่นอน “แต่ความมีระเบียบวินัยของเด็ก ๆ ในการเรียนที่บ้าน ซึ่งผู้ปกครองสวนใหญ่ต้องทำงาน ทำมาหากิน หาเงิน ไม่มีเวลาดูแลใส่ใจใกล้ชิดลูกหลาน อีกทั้งบางครอบครัว มีลูก ๆ ในช่วงวัยแตกต่างกัน บางคนลูกเรียนระดับประถมศึกษา อีกโรงเรียน ส่วนพี่ ๆ อาจไปเรียนระดับมัธยมอีกแห่งก็มีเยอะ การจัดการเรียนแบบผสมผสาน ผู้ปกครองส่วนหนึ่งแทบไม่เข้าใจ และฝากความหวังไว้ที่คุณครูช่วยดูแลลูก ๆ”ทั้งนี้กลุ่มผู้ปกครอง ที่มีลูกหลานเรียนใน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงเปิดเทอมที่ผ่าน ๆ มา หลาย ๆ พื้นที่จะมีรถประจำรับส่งของท้องถิ่น ทั้ง เทศบาล, อบต., หน่วยงานที่ผู้ปกครองทำงาน ช่วยบริการ แต่เมื่ออยู่ในภาวะโควิด-19 ส่วนหนึ่งระงับไป ทำให้ผู้ปกครองต้องรับส่งเอง หรือใช้บริการรถสาธารณะ รถบริการรับ ส่งที่จ่ายรายเดือน “ช่วงเรียนในห้องเรียน ไม่น่ามีปัญหา แต่ช่วงหลังเลิกเรียน โดยธรรมชาติของเด็กเล็ก ๆ จะออแน่น ตามร้านขายน้ำ ขายขนม ซึ่งคุณครูคงดูแลได้ไม่ทั่วถึง หน้ากากอนามัย อาจจะมีทั้งสวมใส่และถอด วิ่งเล่นกัน แม้ทางโรงเรียนจะมีมาตรการลดการแออัด และกิจกรรมรวมกลุ่ม แต่เชื่อว่า หลังเลิกเรียน รูปแบบเดิม ๆ ตามธรรมชาติของเด็ก ๆ คงยากที่จะปรับเปลี่ยน หรือคอยสอดส่องดูแลได้ตลอดเวลา”ทั้งนี้คณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (คณะกรรมการ สมศ.) กล่าวว่า ความพร้อมการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่นั้นจากการลงพื้นที่พบว่า สถานศึกษาแต่ละดับ บริหารจัดการสถานศึกษา พร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ “แต่ที่น่ากังวล คือ การแบ่งเวลาเข้าเรียนของโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งสถานศึกษาต้องวางแผนการจัดการเรียนการสอนภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ ต้องช่วยกัน ไม่ให้โรคนี้ระบาดรอบสอง”คุณบุณยวีร์ มานะสมบูรณ์ กล่าวว่า ปัญหาเด็ก ๆ นักเรียน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กประถมศึกษา ออกันหน้าโรงเรียนเกิดจากความเคยชิน แก้ไขได้ ประสานขอความร่วมมือของโรงเรียน ทั้งกับ ศบค.จังหวัด และผู้ค้าขายหน้า รร. ป้องกันความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น “โดยส่วนตัว กรณี ให้เด็กมาโรงเรียน การดูแล จะยากสุด ๆ ในเด็กเล็ก เด็กวัยประถม ก็ตอนกินอาหารกลางวัน กับตอนเข้าห้องน้ำ คุณครูจะดูแล จุดสัมผัสที่อาจเป็นจุดเสี่ยงโรค อย่างไร น่าจะทยอยเปิดเรียนจากระดับมหาวิทยาลัย ระดับมัธยมศึกษา ไล่เรื่อยลงมาดีกว่าเปิดพร้อมกัน”

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า กลุ่ม รร.ที่มีนักเรียนไม่มาก การบริหารจัดการ ตามโยบายน่าจะทำได้ง่ายและประสิทธิภาพ ส่วนที่น่ากังวลคือ กลุ่มโรงเรียนดัง ๆ เด็กนักเรียนเยอะ ๆ ยิ่งเด็กระดับประถมศึกษา เด็กปฐมวัย เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก “ศูนย์เด็กเล็ก เคยมีบทเรียน มีกรณีตัวอย่างจากการที่เด็กป่วย เป็นไข้ ก็แค่ให้ผู้ปกครองมารับกับบ้าน รอจนหายไข้ แต่กรณีโรคนี้ถ้ามีแค่คนเดียวก็ต้องปิดทั้งศูนย์ วุ่นกันทั้งตำบล ตรวจสอบติดตามเฝ้าระวังอาการ 14 วันตามสูตร รวมถึงผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิด ไม่ได้จุดประเด็นให้ตื่นตระหนก แต่ถ้ามีกรณีแบบที่ว่า ก็น่ากังวล น่าห่วง”

ร่วมแสดงความคิดเห็น