เชียงใหม่ลุ้นมรดกโลก สมัยประชุมยูเนสโก้ 29 มิ.ย. – 9 ก.ค.นี้

คณะทำงานเชียงใหม่สู่มรดกโลก เปิดเผยว่า คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกจะจัดการประชุมคัดเลือกแหล่งมรดกโลกครั้งที่ 44 ที่เมืองฝูโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. – 9 ก.ค. 2563 ซึ่งหลังจากเชียงใหม่ นำเสนอเอกสาร ข้อมูลแผนจัดการพื้นที่มรดกโลกจนได้รับการประกาศให้ขึ้นบัญชี เพื่อพิจารณาเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2558

ปัจจุบัน ได้มุ่งเน้นการจัดทำแผนการจัดการและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลกผลักดันให้เป็นวาระจังหวัด ได้จัดส่งเอกสารข้อเสนอไปยังศูนย์มรดกโลก สำนักงานยูเนสโก ณ กรุงปารีส และปรับปรุงแก้ไขเอกสารตามแนวทางที่ได้รับคำแนะนำ ซึ่งการประชุมปีนี้ ทุก ๆ ภาคส่วนก็รอคอย ติดตามความคืบหน้า

สำหรับประเด็นหลัก  ๆ ในการเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ได้กำหนดเกณฑ์ การพิจารณาคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล 3 คุณค่า มีด้านผังเมือง ด้านวัฒนธรรมประเพณี ด้านศิลปะสถาปัตยกรรมซึ่งทั้ง 3 คุณค่าสอดคล้องกับเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก้ ข้อ 2 ว่าด้วยการแสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชนชาติ การส่งอิทธิพลต่อเนื่อง ที่ซึ่งผังเมืองและระบบการจัดการชลประทานอันยั่งยืนของเมืองเป็นประจักษ์พยาน ข้อ 3 หลักฐานทางอารยธรรมที่มีการสืบทอดมาถึงปัจจุบัน และ ข้อ 4 ที่ซึ่งสถาปัตยกรรมและงานศิลปกรรมภายในวัดวาอาราม สะท้อนการพัฒนาด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ของผู้คนในพื้นที่

แม้ว่าการประชุมมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่ประชุมมีมติประกาศขึ้นทะเบียนอาณาจักรโบราณพุกาม ประเทศเมียนมา ทุ่งไหหิน สปป.ลาว เหมืองถ่านหิน ออมบิลีน ประเทศอินโดนีเซีย โบราณสถานเมืองเหลียงซู ประเทศจีน แต่ของไทยที่ลุ้นหลาย ๆ แห่ง ทั้งกลุ่มป่าแก่งกระจาน สถานที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ตลอดจน เมืองโบราณต่าง ๆ รวมถึงเชียงใหม่ที่เสนอไปครั้งที่ 4 แต่ทว่าปีนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็คาดหวังว่าจะมีข่าวดี

เครือข่ายอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่ และ 17 ภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลก ระบุว่า ไม่ว่าผลการนำเสนอจะออกมารูปแบบใด หรือรอต่อไป แต่การกำหนดพื้นที่แหล่งมรดกเชียงใหม่พื้นที่กันชน และแหล่งมรดกสำคัญ ข้อมูลจากเอกสารข้อเสนอขึ้นทะเบียนเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก

“จะเป็นจุดเริ่มให้ชาวเชียงใหม่ เรียนรู้อดีต ตระหนักถึงความสำคัญในสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ เป็นมรดกของเมือง ผ่านรูปแบบ ศิลปะ วัฒนธรม ประพณี วิถีชุมชน สถาปัตยกรรมต่าง ๆ จนนำมาซึ่งนักท่องเที่ยว สร้างรายได้สู่เชียงใหม่ จนเป็นเมืองเศรษฐกิจแถวหน้าของไทย ที่ผู้คนอยากมาเที่ยว อยากมาอยู่ มาลงทุน จนเปลี่ยนแปลงไปเกินคาดคิด การจะได้เป็นมรดกโลก หรือกระบวนการที่จะได้มาซึ่งมรดกโลก จะมีผลอย่างไร เชียงใหม่ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หากไม่อยากเห็นการทุบรื้อทำลายรอยอดีต เจดีย์เก่า ๆ เพื่อปลูกสร้าง อาคาร โครงการหลากแบบ การฟื้นฟูและพัฒนาเมือง จากแผนงานที่กำลังผลักดันมรดกเมืองสู่มรดกโลก น่าจะได้เวลาเริ่มต้นกันจริง ๆ จัง ๆ ร่วมมืออนุรักษ์เมืองให้เกิดเป็นรูปธรรม จะได้ไม่ต้องมาเสียใจ เสียดายกับอดีตอันยิ่งใหญ่ที่ถูกกลบลบหายไปกับแผนพัฒนา แผนการก่อสร้างต่าง ๆ เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในหลาย ๆ เมืองเก่า”

ร่วมแสดงความคิดเห็น