อธิการบดี ม.เกษตรฯ เป็นประธานลงนามความร่วมมือ พัฒนาประสิทธิภาพการปลูกข้าวโพด สำหรับผลิตข้าวโพดหมักคุณภาพ เพื่อเลี้ยงโคนมคุณภาพ

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2563 ที่สหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด ตำบลสบเส้า อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นประธานในพิธีและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน ด้านการผลิตข้าวโพดหมัก เพื่อยกระดับคุณภาพน้ำนมโค เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการปลูกข้าวโพด สำหรับผลิตข้าวโพดหมักคุณภาพ สู่การเลี้ยงโคนมด้วยข้าวโพดหมักคุณภาพดี เพิ่มโอกาสและสร้างศักยภาพแก่เกษตรกร

โดยมี รศ.สุวิสา พัฒนเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม และนายสุพจน์ รังรองธานินทร์ ประธานสหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด ร่วมลงนาม โดยความร่วมมือครั้งนี้ คาดหวังให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมคุณภาพสูงสำหรับคนไทย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศ เพื่อรองรับการเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์ภายใต้ FTA ในปี พ.ศ. 2568 เพิ่มทั้งคุณภาพการผลิต ความพร้อมและโอกาสแก่เกษตรกรให้มีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน

 

รศ.สุวิสา พัฒนเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรมกล่าวว่า สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากความต้องการของสหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด ต้องการที่จะพัฒนาการผลิตข้าวโพดหมัก สำหรับการเลี้ยงโคนม เพื่อยกระดับคุณภาพน้ำนมโค ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 โดยการสนับสนุนของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มก. โดยมี ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ รศ.ดร.สมเกียรติ ประสานพานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านโคนม เป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ และจัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 4452 เพื่อนำไปผลิตเป็นข้าวโพดหมัก สำหรับการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรต่อไป

ขณะที่การผลิตข้าวโพดหมัก นายสุพจน์ รังรองธานินทร์ ประธานสหกรณ์การเกษตรแม่ทา กล่าวว่า ทางสหกรณ์การเกษตรแม่ทา ได้ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์สุวรรณ 4452 ซึ่งเป็นข้าวโพดพันธุ์ดี จากศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้น้ำหนักผลผลิตต้นสดสูง ใช้ทำอาหารหมักที่มีคุณภาพดี เมื่อนำไปเลี้ยงโคนม ทำให้ได้น้ำนมโคที่มีคุณภาพสูงขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่ม และช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำนมโค ผลการดำเนินการดังกล่าว ได้รับการยอมรับ และเป็นที่พอใจของเกษตรกรสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด ที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างมากถือเป็นโอกาสที่ดีทั้งการเพิ่มศักยภาพและคุณภาพของผลผลิต

ด้านอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ถือเป็นงานบริการของมหาวิทยาลัยอีกด้านหนึ่ง ที่จะพัฒนาทั้งความพร้อมและคุณภาพผลผลิตแก่เกษตรกร ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้นอกจากการพัฒนาให้สหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด เป็นต้นแบบในการผลิตข้าวโพดหมักคุณภาพดี เพื่อยกระดับคุณภาพน้ำนมโคแล้ว มีการพัฒนาเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์การเกษตร และเกษตรกร ให้สามารถนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดหมักและน้ำนมโค และขยายผลสู่สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์โคนม และเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภัณฑ์นมคุณภาพสูง สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ และรองรับการเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมภายใต้ FTA ในปี 2568 นี้ด้วย

ซึ่งก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ในการสนับสนุนองค์ความรู้ตามความต้องการของเกษตรกร จนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดในภาคการเกษตร และสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป
โอกาสนี้คณะของอธิการบดี มก.ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจดูพื้นที่การปลูกข้าวโพดและกระบวนการทำข้าวโพดหมักคุณภาพดีภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ด้วย

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น