ภาษีเหล้า เบียร์ลดวูบ เว้นเก็บภาษีโรงแรม ทำท้องถิ่นกังวลงบพัฒนาน้อย

ผู้บริหารท้องถิ่นใน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ โรงแรม ที่พัก ในการยกเว้นจัดเก็บค่าธรรมเนียม ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2563 – 30 มิ.ย. 2564 รายได้ส่วนนี้ ถ้ารวมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ชะลอไปอีก จะส่งผลให้รายได้ที่ด้านการคลังประมาณการว่ารัฐจะจัดเก็บรายได้ลดลงกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2563 นี้

ดังนั้นการที่กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นของบไปกว่า 227,785 ล้านบาท และ อปท. นำเสนอโครงการขอรับงบจากแผนฟื้นฟู ที่ตั้งงบไว้กว่า4 แสนล้านบาท จึงเป็นเรื่องจำเป็น โครงสร้างงบปี 2564 อปท. ขอไป 93,153 ล้านบาท เพิ่มจากเดิม 36,625.5 ล้าน ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้มากน้อยเพียงใด เพราะงบปีผ่านมาได้รับจัดสรรเพียง 54,327.5 ล้านบาทเท่านั้น “น่าสังเกตว่างบที่ อปท. ขอไป จะใช้ด้านเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ จึงกังวลกันว่า งบด้านพัฒนาอาจจะลดน้อยไป ยิ่งภาษีที่เคยได้รับจากการจัดเก็บตามหน้าที่ อาจจะส่งผลกระทบต่อภารกิจ โครการ แผนงาน ซึ่งจำเป็นต้องบริการชาวบ้านได้”

ทั้งนี้ทีมข่าว ตรวจสอบข้อมูลหน่วยงาน ด้านภาษีสรรพสามิต พบว่า ปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 – ก.ย. 2563) ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ที่ 642,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีงบประมาณ 2562 แบ่งเป็น จัดเก็บภาษีน้ำมัน 2.4 แสนล้านบาท ภาษีรถยนต์ 1.38 แสนล้านบาท ภาษีเบียร์ 86,000 ล้านบาท ยาสูบ 78,000 ล้านบาท สุรา 61,000 ล้านบาท เครื่องดื่ม 20,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่ายอดจัดเก็บภาษีสุรา เฉพาะเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา จัดเก็บได้ 3,144 ล้านบาท เปรียบเทียบจากปีก่อนช่วงเดียวกันเคยได้ 4,650 ล้านบาท ลดลงกว่าร้อยละ 26.6 และภาษีเบียร์ เก็บได้ 28.73 ล้านบาท จากที่เคยเก็บได้ปีที่แล้ว ที่มียอด 7,086 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าช่วงโรคโควิด-19 ระบาด และมาตรการปิดร้านเหล้า ผับ บาร์ ทำให้ภาษีเหล้า เบียร์หายวูบไปหลายหมื่นล้าน

 

“เฉพาะรายได้จัดเก็บจากค่าใบอนุญาตขายสุรา เบียร์ ในท้องที่เชียงใหม่ ช่วง พ.ค. 2563 มียอดเพียง 26,369.45 บาท จัดสรรให้ อปท. แต่ละแห่ง เช่น นครเชียงใหม่ 4,462 บาท เทศบาลตำบล (ทต.) ช้างเผือก 795 บาท ทต.แม่ริม 174 บาท ทต.สุเทพ 20 บาท เป็นต้น”

 

ผู้บริหารท้องถิ่น (อปท.) ในเขตเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า ข้อมูล ยอดโอนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรในกลุ่มองค์การบริหาส่วนจังหวัด (อบจ.) ยอด เดือน พ.ค. 2563 ทั่วประเทศประมาณ 72 ล้านบาท ในส่วนเชียงใหม่ 8 แสนกว่าบาท, ลำพูน 8 หมื่นกว่าบาท

“ความเหลื่อมล้ำของภาษีที่ได้รับ บางแห่งได้ 8-9 ล้านบาท แม่ฮ่องสอนน่าจะได้น้อยสุดในประเทศ ที่ 35,464.17
บาท เมื่อมีการเปิดช่อง เสนอโครงการขอรับงบจากโครงการฟื้นฟูที่รัฐตั้งไว้ 4 แสนล้านบาท ทุก อปท. ก็ต้องหาทางของบเท่าที่จะทำได้”

ล่าสุดวันนี้สรุปโครงการที่ขอไปมี 46,411 โครงการ วงเงินกว่า 1,448,474 ล้านบาท มีการพิจารณาเบื้องต้น 196
แผนงาน วงเงินกว่า 94,069 ล้านบาท จะเป็นโครงการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจร้อยละ 54.6 สร้างความเจริญเติบโตยั่งยืน 21.6% ที่เหลือกระตุ้นการบริโภค การท่องเที่ยว

“แม้จะมีมาตรการ ผ่อนปรนสถานบริการ ผับ บาร์ และร้านคาราโอเกะ อนุญาตให้เปิดบริการได้แล้ว เมื่อ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา และมีมาตรกรกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อปท. ต้องรับบท สถานสงเคราะห์ ตั้งแต่เรื่องงบผู้สูงอายุ ผู้พิการ การช่วยเหลือผู้เดือดร้อน กลุ่มชาวบ้านที่ไม่มีงาน เพราะตกงาน กลับมาอยู่บ้าน อปท.ต้องสร้างงาน ให้มีรายได้ แล้วงบพัฒนา งบบริหารจัดการภารกิจ ท่ามกลางภาวะที่ภาษีหดหายไป จากที่ อปท. เคยทำหน้าที่จัดเก็บ บางอย่างก็ต้องยกเว้น เช่นภาษีโรงแรม ภาษีที่ดิน ก่อสร้าง หากงบที่เสนอขอไปไม่ผ่านการพิจารณา ได้รับการอุดหนุน ก็คงต้องทำเฉพาะงานทั่ว ๆ ไป ในส่วนงบปี 2564 ด้านการพัฒนา ลงทุนต่าง ๆ แทบไม่เห็นช่องทางเลยว่าจะหาจากไหน ถ้าไม่มีงบ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น