ลานท่าแพ พื้นที่สาธารณะสารพัดประโยชน์คู่เชียงใหม่ เป็นทั้งลานจอดรถ ลานจัดกิจกรรม

เครือข่ายอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากเกิดกระแสกระตุ้นให้สังคม ร่วมมือกันดูแลปกป้องเมืองเก่า ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปกับยุคสมัย เพียงเพื่อประโยชน์บางด้าน จนส่งผลให้เขตโบราณสถานถูกบุกรุก ย่ำยี กว่าจะเข้าไปแก้ไขก็กลายเป็นข้อพิพาท เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล มีเอกสารการครอบครองถูกต้องตามกฎหมาย เช่น กรณีอาคารตึกแถวบนลานท่าแพ จ.เชียงใหม่

ช่วงคาดหวังผลกับโครงการเมืองมรดกโลกก็ตื่นตัว เรียกร้อง นำเสนอแนวทางบริหารจัดการพื้นที่เขตโบราณสถานคู่เมือง แม้กระทั่งลานท่าแพ เคยเสนอให้จัดแต่งภูมิทัศน์ เปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อบริการชุมชน ถ้ามีงบบริจาคซื้อตึกแถว 6 คูหาได้ก็ทำไป ถ้าไม่มีความน่าจะเป็น อาจใช้พื้นที่เพื่อกิจกรรมชุมชนในช่วงที่เศรษฐกิจระบมกัน

“อาจเป็นลานค้าขาย ชูอัตลักษณ์ วิถีชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ในรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยว นอกเหนือจากกิจกรรมถนนคนเดิน เพราะทุกวันนี้ลานท่าแพ กลายสภาพเป็นลานบริการที่จอดรถ ลานสร้างงานไล่นกพิราบ ให้บางกลุ่ม เมื่อมาตรการคุมเข้มหย่อนยานไป ลานท่าแพ ถือเป็นลานสารพัดประโยชน์ เป็นจุดเด่นของเชียงใหม่ ที่โด่งดังไปทั่วโลก น่าจะมีแนวทางสร้างกิจกรรม รับกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมได้บ้าง”

กลุ่มสามล้อเครื่อง และกลุ่มรถส่ล้อแดง ย่านท่าแพ กล่าวว่า พอไม่มีนักท่องเที่ยวจีน ตามร้านค้า กิจการย่านนี้ก็ค่อย ๆ หาย ปล่อยเช่า เซ้งเปลี่ยนมือ เงียบเหงากว่าช่วงวิกฤติที่เคยมี ส่วนหนึ่งเป็นกิจการของทุนต่างถิ่น จุดนี้ลงทุนไม่คุ้มค่าก็ย้ายไปแหล่งใหม่

“ดูสภาพอาคาร กิจการย่านท่าแพ บางตึกปล่อยทรุดโทรม ควรถึงเวลาที่ชาวเชียงใหม่ต้องมาร่วมกันคิด ออกแบบสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะตรงนี้ ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ได้มาหาประโยชน์ พอหมดค่าก็หายไป หรือคิดจะทำอะไรก็ทำบนลานท่าแพ อยากจะใช้เป็นลานจอดรถ ก็จอด แต่ถ้าจัดงาน จัดกิจกรรม เป็นลานดื่มกินเช่นที่ผ่าน ๆ มาก็คงไม่ไหว หน่วยงานที่ดูแลพื้นที่หรือจังหวัด น่าจะมีแนวทาง บริหารจัดการพื้นที่สาธารณะเมืองท่องเที่ยว ให้เป็นสีสันของเมืองช่วงที่เงียบเหงา เศร้าใจกับสภาพเศรษฐกิจได้ คนในพื้นที่ต้องช่วยกัน อย่าคิดหวังแค่จากนักท่องเที่ยว สภาวะแบบนี้ต้องช่วยกันซื้อ ช่วยกันขายในบ้าน อยู่กันแบบแบ่งปัน ประคองให้ทุกอย่างค่อย ๆ ฟื้นตัว”

ร่วมแสดงความคิดเห็น