คณะพยาบาลศาสตร์ มช. เดินรณรงค์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคไข้เลือดออก ประจำปี 2563

โรคไข้เลือดออกเดงกี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค นับเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง และจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศ ที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น นอกจากนี้ โรคดังกล่าวยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่า ร้อยละ 40 (2,500 ล้านคน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น

โรคไข้เลือดออกเดงกีติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้าน เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ ส่วนในชนบทบางพื้นที่ จะมียุงลายสวน เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่น ก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้

โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นแมลงนำโรค การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วย และในยุง ระยะที่ผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 จะมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ระยะนี้จะเป็นระยะติดต่อจากคนสู่ยุง และระยะเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในยุงจนมากพออีกประมาณ 8-10 วัน จึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คน โรคไข้เลือดออกเดงกี อาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง คือ เริ่มจาก ไข้สูงลอย 2-7 วัน ต่อด้วยมีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง หลังจากนั้นมีตับโต กดเจ็บ และ มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อกได้ ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แพทย์ต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค และให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญต้องดูแลรักษาพยาบาลที่ดีตลอดระยะวิกฤต คือ ช่วง 24-48 ชั่วโมง ที่มีการรั่วของพลาสมา สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกหรือเลือดออก แพทย์จะต้องให้การรักษาเพื่อแก้ไขสภาวะดังกล่าว ด้วย สารน้ำ พลาสมา หรือสาร colloid อย่างระมัดระวัง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยและป้องกันโรคแทรกซ้อน

ในช่วงนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนเป็นระยะของการแพร่ระบาด คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผู้ช่วยผศ.ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรมนุษย์ พร้อมด้วย คณะทำงานป้องกันโรคไข้เลือดออกในพื้นที่คณะพยาบาลศาสตร์ ออกเดินรณรงค์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ประจำปี 2563 เป้าหมายเพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย กำจัดลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนในคณะฯ ตระหนักถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต กิจกรรมประกอบด้วย การแจกเอกสารแผ่นพับให้ความรู้ มอบถุงทรายอะเบท และ ตรวจทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ หอพักนักศึกษา โรงอาหาร ร้านค้า ที่ทำการสำนักงาน อาคารเรียน หน่วยสาธิตการสร้างเสริมสุขภาพเด็กเล็ก และ จุดให้บริการประชาชนผู้มาใช้บริการต่าง ๆ

ร่วมแสดงความคิดเห็น