จังหวัดลำปาง จัดประชุมถอดบทเรียนแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ประจำปี พ.ศ. 2563

วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องประชุมจิตต์บัวคำ โรงแรมบุษย์น้ำทอง นายชัยธวัช ศิวบวร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง (ปภ) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ประจำปี พ.ศ. 2563 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

จากสภาพปัญหาด้านไฟป่าและหมอกควันที่ผ่านมา โดยเฉพาะในห้วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี พื้นที่จังหวัดลำปางและจังหวัดภาคเหนือตอนบนจะประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันปกคลุมพื้นที่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ได้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดลำปางและจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มาอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาวัชพืชและสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตร และการเผาขยะ เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ป่าไม้ สภาวะแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน และเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัด

หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2563 จังหวัดลำปาง ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ภายใต้กรอบแนวคิด (AFP) Area : Funtion : Participation เพื่อบูรณาการทำงานของทุกภาคส่วน และที่ประชุมคณะกรรมการจัดการไฟป่าและหมอกควันจังหวัดลำปาง ได้ให้ความเห็นชอบกับมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 ด้านการบริหารจัดการ มีการบริหารจัดการบูรณาการและศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) จัดตั้งศูนย์อำนวยการฯ (War Room) ระดับจังหวัด ณ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง รวมทั้งระดับอำเภอ ระดับตำบล
มาตรการที่ 2 ด้านการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ โดยการรณรงค์และประชาสัมพันธ์
ผ่านสื่อมวลชนในพื้นที่ รวมทั้งเครือข่ายด้านอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายด้านสาธารณสุขและสุขภาพ เครือข่ายภาคประชาชนทุกภาคส่วน
มาตรการที่ 3 การป้องกันและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า อาทิ การขึ้นทะเบียนผู้มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการหาของป่าหรือมีกิจกรรมในพื้นที่ป่า และขอความร่วมมือการจัดตั้งฐานปฏิบัติการให้มีเจ้าหน้าที่อยู่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และการทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยงต่อ การเกิดไฟป่า มาตรการที่ 4 ด้านการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายการส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยการสนับสนุนและส่งเสริมชุมชนในพื้นที่เสี่ยง ป้องกันและควบคุมไฟป่า โดยการทำแนวกันไฟและดูแลแนวกันไฟของชุมชน หรือจัดชุดอาสาสมัครชุมชน สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การจัดกิจกรรมหรือเวทีเสวนาผ่านกลุ่มมวลชนหรือเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ
มาตรการที่ 5 ด้านการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับในห้วงปี 2563 ที่ผ่านมา พื้นที่จังหวัดลำปาง ตรวจพบจุดความร้อน (Hotspot) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 จำนวน 692 จุด ซึ่งพบมากในบริเวณท้องที่อำเภอเถิน อำเภองาว อำเภอเมืองลำปาง และแจ้ห่ม ตามลำดับโดยเฉพาะพื้นที่ป่าบริเวณดอยพระบาท ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาสภาวะหมอกควันปกคลุมพื้นที่ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน (50 mg/m3) จำนวน 86 วัน โดยในวันที่ 27 มีนาคม 2563 ค่า PM2.5 สูงสุด มีปริมาณ 263 mg/m3 ณ สถานีตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และผลการจับกุมดำเนินคดี จำนวน 108 ราย อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน 9 ราย และแจ้งข้อกล่าวหาและส่งฟ้องศาล 2 ราย
การจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนในวันนี้ เป็นส่วนสำคัญของการดำเนินงาน เป็นการทบทวนกิจกรรม ภารกิจ หน้าที่ รวมถึงการประสานงานในส่วนต่างๆ ระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน ให้เห็นถึงจุดเด่น จุดด้อย ซึ่งจักได้นำมาแก้ไข หนุนเสริมให้การดำเนินงานการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดลำปาง ในปีดำเนินการถัดไปประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น