โยน กกต. ไม่พร้อมเลือกท้องถิ่น กลุ่มการเมืองปรามระดับบิ๊ก ๆ ต้องพูดให้สังคมเชื่อถือ

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากอดีต คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในพื้นที่ภาคเหนือ เปิดเผยว่าหลังจากระดับนโยบายกระทรวงมหาดไทย เข้าไปชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) ตามกระทู้ถามเรื่อง ความพร้อมเตรียมเลือกตั้งท้องถิ่นและได้มีการชี้แจงว่า ต้องรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม) ประกาศรูปแบบการเลือกตั้งของท้องถิ่นก่อน

“จากนั้น กกต. จึงจะประกาศวันเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ กกต. ยังไม่มีความพร้อม ต้องอบรมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ควรกล่าวเช่นนั้น กลายเป็นการโยนกลองให้ กกต. และมีพรรคพวก รุ่นน้องที่ยังทำงานหลาย ๆ คนมาปรับทุกข์ว่า ไม่สบายใจที่ระดับนโยบาย กล่าวเช่นนั้นในเมื่อทุกขั้นตอนพร้อม เหลือเพียงทยอยประกาศเขตเลือกตั้งเท่านั้น ”

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ซึ่งเดินทางมาปฏิบัติราชการพื้นที่เชียงใหม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ กล่าวย้ำว่า ต.ค. นี้ ทุกอย่างจะชัดเจน ว่าจะเลือกตั้งรูปแบบใดก่อน ซึ่งคงยืนยันตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในปีนี้ และภายใน 15 ส.ค. นี้ การตั้งงบ อปท.ต้องเรียบร้อย รวมถึงงบเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย

สำหรับความคืบหน้าในการเตรียมเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดเรื่อง การเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดเตรียมสถานที่เลือกตั้งที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม โดยกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ในแต่ละหน่วยเลือกตั้งไม่เกิน 600 คน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการป้องกัน (หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์) เป็นต้น

ในส่วนข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ล่าสุด (30 ก.ค. 2563) นั้น มี อบจ. 76 แห่ง เทศบาล 2,469 แห่ง แบ่งเป็นเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 191 แห่ง เทศบาลตำบล 2,248 แห่ง อบต. 5,305 แห่ง อปท.รูปแบบพิเศษมี 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา (มีการยกฐานะ 5 แห่ง โดย 4 แห่งรอประกาศในราชกิจจาฯ และอีก 1 แห่งกำลังเร่งดำเนินการ)

ด้านผู้บริหารท้องถิ่น หลายพื้นที่ในเชียงใหม่ ยอมรับว่า การชี้แจงของระดับบิ๊ก ๆ ต้องพูดให้ชัดเจน ต้องให้สังคมเชื่อถือ และกรณีกล่าวอ้าง กกต. ไม่พร้อม ไม่เป็นผลดีต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง เนื่องจาก กกต. เกือบทุกพื้นที่ เร่งอบรม ทำความเข้าใจทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

“การเลือกตั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชน ยังทำได้ และรูปแบบไม่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นการจะกล่าวอ้างเหตุใด มานั้นต้องคำนึงถึงความสมเหตุสมผล เพราะทุกวันนี้ กลุ่มฝ่ายประจำ ข้าราชการที่รักษาการทั้งปลัด ทั้งนายกเทศมนตรี ต่างกดดัน ทำอะไรมาก ๆ ก็จะถูกมองว่าข้ามหน้า ข้ามตานักการเมืองไป และที่รักษาการพลาง ๆ มีการจับจ้องติดตาม ตรวจสอบ กิจกรรม โครงการจากฝ่ายตรงข้าม จนแทบขยับ ขับเคลื่อนงบพัฒนาท้องถิ่นล่าช้า มีการท้วงติง ร้องเรียน สอบถามกันละเอียดในประชาคมท้องถิ่น จนสร้างความแตกแยกในชุมชน ดึงเกมมาก ๆ ไม่เกิดผลดี ที่สำคัญ การเลือกตั้งท้องถิ่นคือ ระบอบประชาธิปไตยพื้นฐานของชุมชนที่ต้องดำเนินการด้วย”

ร่วมแสดงความคิดเห็น