เชียงใหม่สำรวจโรงแรม ที่พักเถื่อน ขีดเส้น อปท. แจ้งภายใน 20 ส.ค.นี้ ก่อนครบผ่อนผันปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.เชียงใหม่ ได้มีเอกสารสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ แจ้งไปยังทุกอำเภอ, อบจ., เทศบาลนครเชียงใหม่, เทศบาลเมืองทุกแห่ง และ อปท.ทุกพื้นที่ในเชียงใหม่ ดำเนินการตามข้อสั่งการรัฐบาล ว่าด้วยกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่น ที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ พ.ศ. 2561 เพื่อให้อาคารที่มีอยู่ก่อนกฎกระทรวงบังคับใช้ ก่อน 19 ส.ค. 2559 สามารถดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารมาประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ซึ่งมีผลบังคับ 5 ปี โดยจะสิ้นสุดมาตรการผ่อนผัน 18 ส.ค. 2564

ทั้งนี้ อปท. ต้องเร่งสำรวจจำนวนอาคารสถานที่พักที่มีอยู่ก่อน ที่สามารถและไม่สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตการดัดแปลงอาคาร (อ.6) หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร (อ.5 ) โดยให้เร่งสำรวจ ต้องรายงานภายใน 20 ส.ค. นี้ และหากไม่มีโรงแรม ที่พัก เข้าข่ายดังกล่าว ก็ต้องขึ้นทะเบียน สำรวจข้อมูลให้จังหวัดทราบ เพื่อสรุปรวมข้อมูลโรงแรมที่พักทั้งถูกต้อง และผิดกฎหมาย หรืออยู่ในเงื่อนไขไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ข้อใดได้บ้าง ที่ผ่านมารัฐบาลมีการใช้แนวทาง ในมาตรการ ม.44 ยกเว้นเฉพาะผังเมือง และข้อบัญญัติท้องถิ่น แต่ไม่ได้ยกเว้น พ.ร.บ.อาคาร จึงต้องมาดำเนินการเอกสาร อ.1, อ.5 และ อ.6 เพื่อเป็นโรงแรม จะต้องมีเอกสารแสดงว่าประกอบกิจการห้องพักรายวัน ให้มาแจ้งขึ้นทะเบียนตามแบบฟอร์มที่ประกาศ (กรมโยธาและกรมการปกครอง รับผิดชอบ) การตรวจพิจารณาในกรณีที่การประกอบธุรกิจโรงแรมหรือธุรกิจสถานที่พัก ที่ไม่สามารถดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายรวบรวมข้อเท็จจริง สภาพปัญหา และแนวทางแก้ไข เสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เสนอแนะ เช่น กรณีม่อนแจ่ม อ.แม่ริม หรือตามแหล่งที่ท่องเที่ยวใกล้เขตป่าสงวน, เขตอุทยานฯ เป็นต้น

และในคำสั่ง 6/2562 เมื่อ 12 มิ.ย. 2562 อาคารโรงแรมประเภท 1 (ห้องพักไม่เกิน 50 ห้อง) และประเภท 2
(มีห้องพักและบริการห้องอาหาร) จะต้องเป็นอาคารที่ก่อสร้างก่อน 19 ส.ค. 2559 และยังคงประกอบธุรกิจโรงแรมอยู่ก่อน 12 มิ.ย. 2562 ซึ่งเข้าเกณฑ์โดยมีการฝ่าฝืน กฎหมาย กรณีต่าง ๆ อาทิ เปิดโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือบรรดาโรงแรม ที่พักเถื่อน ซึ่งทั่วประเทศมีกว่า 2 หมื่นแห่ง เชียงใหม่อีกจำนวนมาก จะผิดกฎหมายโรงแรม และถ้าสร้างโรงแรมในโซนสี/ผังสี ที่ห้ามก่อสร้างโรงแรม เช่น สีเขียว เป็นต้น ก็จะผิดกฎหมายผังเมือง ซึ่งเชียงใหม่มีไม่มาก

ส่วนที่พบมากนั้นจะเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เช่น ดัดแปลงไม่แจ้งท้องถิ่น หรือมีการเจรจาบางอย่างเพื่อประวิงเวลาเจรจาซื้อขาย (ซึ่งถ้ามีเจตนาขายโรงแรมที่พักเถื่อนให้บุคคลอื่น ก็จะมีความผิด มีโทษ จับปรับหนัก, เปลี่ยนการใช้อาคาร,ไม่มีใบ อ.5 หรือ อ.6)

สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหา โรงแรม ที่พักเถื่อน ทำผิดกฎหมายนั้นเดิมมีการผ่อนให้ผู้ประกอบการ ทั้งติดตั้งถังดับเพลิงแบบมือถือให้แล้วเสร็จก่อน 11 ส.ค. 2562 เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกมาตรการที่ภาครัฐพยายามปลดล็อกให้อาคารโรงแรมประเภท 1 และประเภท 2 สามารถสร้างอาคารได้ทุกโซนสี และหากผ่านการตรวจสอบจาก เจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามข้อกำหนดในคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ฉบับ 12 มิ.ย. 2562 แล้ว ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุกิจโรงแรมได้จนถึง 18 ส.ค. 2564 ได้รับการยกเว้นโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.โรงแรม, พ.ร.บ.ผังเมือง และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร

ในส่วนโรงแรม ที่พัก ซึ่งเข้าข่าย บุกรุกเขตป่าสงวนและอุทยานฯ นั้น หากมีการพิจารณาตามข้อกฎหมาย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ อุทธรณ์ แจ้งรายละเอียดเพิ่มเติม และถ้ากระทำความผิด จนมีคำสั่งศาลออกมาให้รื้อถอน ก็จะใช้ ม.25 ดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา ในเชียงใหม่ ดำเนินการไปแล้วทั้งในพื้นที่อ่างขางและม่อนแจ่ม ในส่วนพื้นที่นครเชียงใหม่นั้น ค่อนข้างจะมีปมปัญหากรณีการประกาศขาย ตึก อาคารพาณิชย์ ซึ่งดัดแปลงเป็นโรงแรมที่พัก ในช่วงทัวร์จีนเชียงใหม่คึกคัก

อย่างไรก็ตาม สำนักควบคุม/ตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการ/ผังเมือง แจ้งประชาสัมพันธ์ว่า พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 กำหนดความหมายของโรงแรม คือสถานที่พักที่จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราว การให้บริการที่พักไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด หากมีการคิดค่าบริการต่ำกว่ารายเดือน ล้วนแต่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.โรงแรม ฉบับนี้และที่แก้ไขเพิ่มเติมทั้งสิ้น หากฝ่าฝืนประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท (ม.59)

ด้านผู้ประกอบการโรงแรม ที่พักในเชียงใหม่และ ฝ่ายปกครอง เสนอแนะว่า คงต้องเร่งปรับปรุงข้อกฎหมาย เพื่อควบคุม กรณีมีการขายโรงแรม โดยไม่มีใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ต้องระวางโทษปรับเกิดขึ้นทันที ไม่ต้องรอจนครบองค์ประกอบการขายและรับเงินแล้ว จึงจะสามารถดำเนินคดีได้ ซึ่งที่ผ่านมาในกฎหมายของโรงแรม ไม่ได้มีการระบุเรื่องเหล่านี้ไว้ ต่างจากการดำเนินธุรกิจทัวร์ ที่จะมีบทลงโทษจับปรับชัดเจน

“ปัจจุบัน มีการแจ้งประกาศขาย โครงสร้างตึกที่จะปรับปรุงเป็นโรงแรม ที่พัก หรือนำตึกแถว อาคารพาณิชย์ มารีโนเวท เป็นโฮสเทล, เกสท์เฮ้าส์ หรือห้องพักรายวัน พอธุรกิจท่องเที่ยวในเชียงใหม่มีสภาพอย่างที่เห็น ก็ประกาศเซ้ง ขายกันจ้าละหวั่น โดยวิถีธุรกิจทำได้ แต่ปัญหาที่ผู้ซื้อต่อ นักลงทุนจะไปทำอะไรนั้น ไม่มีใครทราบ ถ้าไปบริการห้องพัก เป็นโรงแรม ที่พัก ไม่มีใบอนุญาต ก็เป็นโรงแรมเถื่อน ปัญหาก็จะวนเวียนแบบนี้ รวมถึงปีหน้ากลุ่มที่ผ่อนผัน ผลบังคับใช้ 5 ปี สิ้นสุด 18 ส.ค. 2564 ไม่แก้ไข ทำให้ถูกต้องไม่มีใบ อ.5 หรือ อ.6 แล้วจะดำเนินการอนุโลมกันอีกหรือต้องทำอย่างไร ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น