อย.รับ ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนอันตราย ลุยตรวจจับ หลังชาวบ้านร้องเรียน

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน กรณีข้อมูลผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับฐานข้อมูลของ อย. จากการตรวจสอบพบเว็บไซต์หลักของผลิตภัณฑ์ที่มีการร้องเรียนเข้ามา เช่น 7Fit ได้ปิดไปแล้ว แต่พบอีก 7 เว็บไซต์ ยังทำการโฆษณาและจำหน่าย ในการตรวจสอบเลขสารบบอาหารที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบมีการสวมเลขสารบบผลิตภัณฑ์อื่น จึงเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มักจะระบุข้อความ เช่น หมดปัญหา แคลอรี่ส่วนเกิน ไม่ต้องคุมอาหาร ลดน้ำหนักด้วย สารสกัดจากธรรมชาติ ไม่มีผลข้างเคียง เป็นการโฆษณาเกินขอบเขตความเป็นอาหาร เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่มีสรรพคุณบำบัดรักษา หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกาย จึงได้ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระงับการโฆษณาและดำเนินการตามกฎหมาย ในกรณีที่พบผลิตภัณฑ์เข้าข่ายกระทำความผิด

รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แนะนำผู้บริโภคระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ เกินจริงของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น เห็นผลไว เห็นผลจริง ปลอดภัย การันตี ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างลดน้ำหนัก อย. มักพบว่ามีส่วนผสมของสารไซบูทรามีน หรือยาแผนปัจจุบัน ผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้วยังเสียสุขภาพจากผลข้างเคียงของยาดังกล่าว และอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาบริโภค ขอให้ตรวจสอบสถานะเลข อย. ผ่านช่องทาง ไลน์ : FDAthai, ORYOR Smart Application, เว็บไซต์ fda.moph.go.th และเว็บไซต์ .oryor.com หากพบผลิตภัณฑ์ที่ซื้อ วางจำหน่ายตามช่องทางต่าง ๆ ไม่กับฐานข้อมูล หรือพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

 

ด้านเครือข่าย อย.น้อย จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ที่ผ่าน ๆ มาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการประสานงาน แนะนำการตรวจติดตามผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีการโฆษณาว่า มีผลช่วยลดน้ำหนักสำหรับคนดื้อ (ลดยาก) และเผยแพร่ผลตรวจวิเคราะห์ของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ หลาย ๆ ผลิตภัณฑ์มีสารไซบูทรามีน ไฮโดรคลอไรด์ เป็นยาที่ อย.ได้ยกเลิกทะเบียนตำรับยา

“แต่บางผลิตภัณฑ์ ไม่ได้ผลิตในไทย ไม่มีการแสดงฉลากภาษาไทย และไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ดังนั้น จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อ เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อ อาจมีสารก่ออันตราย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร โดยจะมีอาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูกทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้”

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แนะนำว่าหากต้องการลดความอ้วนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและควบคุมอาหาร โดยการไม่กินอาหารพร่ำเพื่อ ไม่กินจุบกินจิบ ควรทานอาหารที่หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสมครบ 5 หมู่ ลดการกินอาหาร หวาน มัน เค็ม รวมทั้งออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

“ระลึกไว้เสมอว่า อาหารไม่ใช่ยาไม่สามารถช่วยบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคได้ อย. ไม่เคยอนุญาตให้โฆษณากาแฟ, ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นอาหารลดน้ำหนัก จึงขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินแล้วยังอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนยา หรือสารอันตรายที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้ มีข้อสงสัยในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ แจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น