นักโทษคดียาเสพติดกว่า 3 แสนราย เชียงใหม่ติดอันดับ 1 นักโทษสูงสุดในภาคเหนือ ปีนี้พ้นโทษกว่า 4 หมื่นราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 13 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสวันเฉลิพระชนมพรรษา 28 ก.ค. 2563 เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2563 มาตรา 5 ระบุว่า ผู้ต้องโทษที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว (1) ผู้ต้องขัง (2) ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ (3) ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ และมาตรา 7 (1 ) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปีแล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้น นักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 2 ชั้นดีมาก 1 ใน 3 ชั้นดี 1 ใน 4 ชั้นกลาง 1 ใน 5 จากการตรวจสอบเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ พบว่า จำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด (ข้อมูล 13 ส.ค.2563) รวม 382,452 คน แยกเป็นชาย 334,373 คน หญิง 48,079 คน ในจำนวนนี้มีโทษจำคุกตลอดชีวิต 5,983 ราย,โทษประหารชีวิต 327 ราย ผู้ต้องขังรายสำคัญ 604 ราย จำนวนผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษในอีก 14 วัน (2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 15-28 ส.ค. 2563 เฉลี่ย 400 ราย จำนวนผู้ต้องขังรับตัว กับพ้นโทษ พบว่า รับตัวมากกว่าพ้นโทษ เช่น เดือน ก.ค. 2563 รับตัว 17,641 คน พ้นโทษ 15,721 คน เดือน ส.ค. นี้พ้นโทษ 5,328 ราย รับตัว 6,348 ราย เป็นต้น

 

ข้อมูลผู้ต้องขังล่าสุด (13 ส.ค. 2563) เชียงใหม่มี 10,918 คน, ลำพูน 2,718 คน, เชียงราย 7,586 คน, แม่ฮ่องสอน 1,304 คน, ลำปาง 4,162 คน, พะเยา 1,605 คน, น่าน 1,662 คน, แพร่ 1,811 คน มากสุด คือ กรุงเทพ 36,875 คน

ใน 10 อันดับของประเภทคดีที่มีจำนวนผู้ต้องขัง พบว่า คดียาเสพติดสูงสุด 301,415 คน ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 42,187 คน ความผิดเกี่ยวกับจราจร 38,958 คน ประเทศไทยมีจำนวนนักโทษในเรือนจำสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ความสามารถเรือนจำทั่วประเทศรองรับนักโทษได้ประมาณ 200,000 คน ช่วง 5 ปีที่ผ่าน เรือนจำทั่วประเทศไทยมีนักโทษรวมกัน เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 330,000 คน/ปี แต่ละปีต้องรับนักโทษเข้าคุกเพิ่มมากกว่าจำนวนนักโทษที่ถูกปล่อยตัว เมื่อปี 2561 มีนักโทษเข้าคุก 221,951 คน ปล่อยตัว 148,502 คน

 

ปีนี้จะมีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ประมาณ 40,000 ราย และมีนักโทษเด็ดขาดที่เข้าเกณฑ์รับการลดวันต้องโทษตามสัดส่วนกว่า 2 แสนราย ในกลุ่มนักการเมืองดัง ๆ ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในเกณฑ์ เนื่องจากกระทำความผิดตามบัญชีแนบท้าย แต่จะได้รับการลดวันต้องโทษตามสัดส่วน เพื่อเข้าสู่กระบวนการพักการลงโทษ ปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ เช่น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.มหาดไทย คดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ จำคุก 2 ปี เมื่อ 28 ก.พ. 2562 และ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ มาตรา 157 โยกย้าย นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่เป็นธรรม โทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน เมื่อ 26 ก.พ. 2563 พบว่า 2 คนไม่ทันช่วงปรับชั้นนักโทษ ที่พิจารณาทุก 6 เดือน ทำให้ยังจัดอยู่ในกลุ่มนักโทษชั้นกลาง ไม่ใช่นักโทษชั้นดี อยู่ในกลุ่มผู้ต้องขังสูงอายุ และได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3

กรมราชทัณฑ์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2458 ต่อมาปี พ.ศ.2545 มีการโอนย้ายมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม หลังจากที่ถูกยุบไปเป็นแผนกราชทัณฑ์สังกัดกระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2562 ได้รับการจัดสรรงบกว่า 13,429 ล้านบาท มีหน่วยงานภายใต้สังกัด 143 แห่ง แยกเป็นทัณฑสถาน 42 แห่ง เรือนจำกลาง 33 แห่ง เรือนจำพิเศษ 4 แห่ง สถานกักขัง 5 แห่ง และสถานกักกัน 1 แห่ง ซึ่งแต่ละปีงบประมาณบริหารจัดการจำกัดไม่เพียงพอ เพราะนักโทษมีจำนวนมาก บุคคลากรมีน้อยไม่สมดุลย์กับจำนวนผู้ต้องขัง

ที่ผ่าน ๆ มามีความพยายามแก้ไขปัญหา นักโทษล้นคุก มีมาตรการ โครงการต่าง ๆ เพื่อคืนคนดีสู่สังคม ให้โอกาสผู้กระทำผิดได้รับโอกาส ภายหลังพ้นโทษ ไม่กระทำผิดซ้ำ โดยมีการติดตามประเมินผล ซึ่งการกระทำผิดซ้ำเริ่มลดน้อยลง แต่จำนวนผู้กระทำความผิดใหม่ ๆ ยังเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมผนึกกำลังกันแก้ไขต่อไป ไม่เช่นนั้นปัญหาผู้ต้องขังรับตัวกับผู้พ้นโทษ ก็จะเป็นแบบนี้ ทำให้ ต้องใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อดูแล แก้ไขกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ในแต่ละปีงบประมาณ

ร่วมแสดงความคิดเห็น