สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเชียงราย จัดประชุมประสานการดำเนินงานควบคุมการขอทานให้เกิดประสิทธิผลในการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต

นายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานประชุมอนุกรรมการควบคุมคนขอทานจังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 1/2563 เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2563 ที่ห้องพวงแสด ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ถนนแม่ฟ้าหลวง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย โดยมี อนุกรรมการจากภาคราชการ และภาคประชาสังคมเข้าร่วมหารือ เพื่อขับเคลื่อนตามบทบาทหน้าที่ในพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 ให้ได้ผลในเชิงรูปธรรมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ในการประชุมเป็นการหารือแนวทางการพัฒนาศักยภาพผู้ทำการขอทานไม่ให้กลับมาขอทานซ้ำ การดำเนินการลดจำนวนผู้ทำการขอทาน การควบคุมป้องปรามการออกมาขอทาน และแนวทางการดำเนินการลดจำนวนผู้ทำการขอทานตามบริบทจังหวัด ซึ่งมีแผนหลักระดับประเทศเพื่อไม่ให้มีขอทานในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และให้ปรับบูรณาการทุกภาคส่วนให้เหมาะสมกับสภาพของจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะขอทานกับวณิพก ให้จัดพื้นที่แสดงความสามารถ การแสดงออกตามภูมิปัญญาท้องถิ่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังบูรณาการให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันทำงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง การกำหนดแผนการขับเคลื่อนการควบคุมขอทานจังหวัดเชียงราย ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ตามแผนขับเคลื่อนการควบคุมการขอทาน ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562-2564 โดยให้มีการกำหนดทิศทางในขั้นต้น และพิจารณาการจัดตั้งชมรมผู้แสดงความสามารถจังหวัด การวิเคราะห์แนวทางการดำเนินการภายใต้หลักกฎหมาย และการจัดการด้านอาชญากรรมที่เน้นการป้องกันแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีเป้าหมายลดผู้ขอทานในพื้นที่ให้ได้ผลในเชิงรูปธรรม

ในที่ประชุมได้รับทราบผลการปฏิบัติงานในระหว่างปี 2562-ปัจจุบัน โดยมีการป้องกันและบังคับใช้กฎหมาย การคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต การผสานพลังคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างการตระหนักรู้และสื่อสารสังคมเพื่อลดการขอทาน และการเพิ่มประสิทธิภาพระบบและกลไกการทำงาน

สำหรับ ข้อมูลผู้กระทำการขอทานในจังหวัดเชียงรายในปี พ.ศ.2563 มีจำนวน 15 ราย แยกเป็นชาย 6 ราย และหญิง 9 ราย โดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดเชียงรายได้ดำเนินการส่งบุคคลทั้ง 15 ราย กลับภูมิลำเนาเรียบร้อยแล้ว

ส่วนการออกบัตรประจำตัวผู้มีความสามารถในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 มีจำนวน 80 ราย เป็นชาย 35 คน เป็นหญิง 45 คน จำแนกเป็นประเภทดนตรี 48 ราย นาฎศิลป์ 10 ราย ศิลปะ 1 ราย ดนตรีและนาฎศิลป์ 21 ราย

ผลของการประชุมหารือในครั้งนี้ จึงเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนตามแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 ให้บรรลุผลสำเร็จตามแนวทางในการจัดระเบียบคนขอทาน และการดำเนินการแนะนำให้ผู้แสดงความสามารถให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการขออนุญาตต่อ อปท.ในพื้นที่ ภายใต้หลักคุณธรรม จริยธรรมและสิทธิมนุษยธรรม การค้ามนุษย์ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการจัดระเบียบสังคมให้เกิดความสงบสุขด้วยหลักมนุษยธรรมแล้ว ยังเป็นการลดการขอทาน ให้ความรู้แก่ประชาชนและตระหนักถึงกฎหมาย รวมทั้ง ส่งเสริมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัยและผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึงอีกด้วย

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

ร่วมแสดงความคิดเห็น