ปภ. รายงานเกิดน้ำป่าไหลหลาก 8 จังหวัด และดินสไลด์จังหวัดน่าน เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย

วันที่ 18 ส.ค. 63 เวลา 09.00 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานเกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ พะเยา น่าน เลย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และดินสไลด์ในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 63 ถึงปัจจุบัน (18 ส.ค. 63 เวลา 06.00 น.) ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์ในพื้นที่ 9 จังหวัด แยกเป็นน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 8 จังหวัด รวม 14 อำเภอ 32 ตำบล 164 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 858 ครัวเรือน ดังนี้

ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอเชียงคำ รวม 5 ตำบล 40 หมู่บ้าน น่าน เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสองแคว อำเภอท่าวังผา และอำเภอบ่อเกลือ รวม 4 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8 ครัวเรือน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เลย เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1 ครัวเรือน อุดรธานี เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอนายูง รวม 2 ตำบล 10 หมู่บ้าน
กาฬสินธุ์ เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และอำเภอเขาวง รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน

ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาดี และอำเภอประจันตคาม รวม 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19 ครัวเรือน จันทบุรี เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ เมืองจันทบุรี อำเภอขลุง และอำเภอมะขาม รวม 17 ตำบล 90 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 594 ครัวเรือน ตราด เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอเขาสมิง รวม 1 ตำบล 12 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 236 ครัวเรือน

ดินสไลด์ในพื้นที่ 1 จังหวัด ได้แก่ น่าน เกิดดินสไลด์ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสองแคว อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ รวม 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องสูบน้ำ และยานพาหนะให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยขนย้ายสิ่งของไปไว้ในที่สูงและเร่งระบายน้ำท่วมขัง รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภค-บริโภค อีกทั้ง จัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น