ตรวจจับต่างด้าวแย่งงานคนเมือง เร่งแก้ปัญหาว่างงานสูง แย่ง 40 อาชีพสงวนเฉพาะคนไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ จัดหางานทุกพื้นที่ได้รับมอบหมายจาก นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ซึ่งดำเนินนโยบายตามข้อสั่งการ กระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงาน ได้เร่งมาตรการเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานมากที่สุดในขณะนี้ และที่ผ่าน ๆ มา ยังมีมาตรการกำหนดงานห้ามแรงงานต่างด้าว ทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้ ทำโดยมีเงื่อนไข 13 งาน 40 งาน

โดยบัญชีที่ 1 ห้ามทำโดยเด็ดขาด ได้แก่ งานแกะสลักไม้, งานขับขี่ยานยนต์, งานขายทอดตลาด, งานเจียระไนเพชร-พลอย, งานเสริมสวย ,งานทอผ้าด้วยมือ, งานทอเสื่อทำกระดาษสาด้วยมือ, ทำเครื่องเขิน, เครื่องดนตรีไทย, เครื่องถม, เครื่องเงิน/ทอง/นาก, เครื่องลงหิน, ตุ๊กตาไทย, งานทำบาตร, ทำผ้าไหมด้วยมือ, ทำพระพุทธรูป, ทำร่ม, งานนายหน้า/ตัวแทน, งานนวดไทย, งานมวนบุหรี่, งานมัคคุเทศก์, งานเร่ขายสินค้า, งานเรียงอักษร, งานสาวบิดเกลียวไหม, งานเลขานุการ และบริการทางกฎหมาย

บัญชีที่ 2 งานห้ามทำโดยมีเงื่อนไข ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้แก่ วิชาชีพบัญชี, วิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชาชีพสถาปัตยกรรม

บัญชีที่ 3 งานห้ามทำโดยมีเงื่อนไข ให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือได้เฉพาะงานที่มีนายจ้าง ได้แก่ งานกสิกรรม, ทำที่นอน, ทำรองเท้า, ประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย, งานก่อสร้างอื่น ๆ, งานทำมีด, งานทำหมวก และงานปั้นดินเผา

ส่วนบัญชีที่ 4 งานที่ห้ามทำโดยมีเงื่อนไข ให้คนต่างด้าวทำได้เฉพาะที่มีนายจ้าง และได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน

หากแรงงานต่างด้าวทำงานที่ไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท และจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วนนายจ้างมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อการจ้างคนต่างด้าว 1 คน และหากทำผิดซ้ำ จะมีโทษปรับ 50,000-200,000 บาท โทษจำไม่เกิน 1 ปี และขึ้นบัญชีห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวอีก 3 ปี

ในพื้นที่ภาคเหนือ หลาย ๆ จังหวัด ซึ่งมีอัตราการว่างงานสูง และแรงงานต่างด้าวแย่งงานคนเมือง ล่าสุด จ.ลำพูน พบว่าที่ ตลาดสันติสุข ต.มะเขือแจ้ อ.เมืองลำพูน นางฐิติมา นราพงศ์ จัดหางาน จ.ลำพูน ได้มอบหมายให้ นายวิรัตน์ ศรีสัมพันธุ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญพิเศษ พร้อมเจ้าหน้าที่งานควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว ลงพื้นที่ออกตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย ผลการตรวจสอบ 6 ร้าน พบคนไทย 5 ราย เป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (พื้นที่สูง) 5 ราย และแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา 1 ราย กำลังทำงานขายของหน้าร้าน จากการตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน พบว่าอนุญาตให้ทำงานตำแหน่งกรรมกร เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวและแจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นคนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.นิคมอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น