เร่งเก็บน้ำฝนสำรองใช้แล้งหน้า ศูนย์ภัยพิบัติเตือน อาจมีน้ำท่วมหนัก เพราะพายุฝนทยอยมา

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (17 ส.ค.63) มีปริมาณน้ำรวมกัน 33,876 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 10,160 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 2563 จัดสรรน้ำทั้งประเทศแล้ว 7,932 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนฯ

ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำ จะเน้นบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนที่เหลือให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า โดยเน้นย้ำโครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและปริมาณน้ำท่า เตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการให้คำแนะนำแนวทางดูแลรักษา เฝ้าระวัง บริหารจัดการน้ำของฝาย และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในความรับผิดชอบตลอดฤดูน้ำหลาก เพื่อลดความเสียหาย หากเกิดเหตุอุทกภัย

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวว่า จากนี้ไปฝนจะหนักมาก ตั้งแต่ ส.ค.- ต.ค. หนักในเชิงน้ำท่วมแน่ แต่ภาคไหน ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ถ้าตกเหนืออ่างยังมี
ปริมาตรรองรับได้ ไม่กังวล แต่ถ้าตกใต้อ่าง น้ำก็จะมาภาคกลางมีโอกาสสูง 70% ต้นปี ฝนตกน้อยกว่าปกติ พายุก็เข้าน้อย พายุเฉลี่ยปีละ 26 ลูก แต่ปีนี้เกิดไปแค่ 5-6 ลูก อีก 20 ลูกเข้าแน่ แล้วต้องเกิดใน 3-4 เดือนนี้ จะทำให้ถี่ขึ้น

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงานสรุปสถานการณ์น้ำวันนี้ (18 ส.ค. 63) ว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ จะมีฝนตกหนักใน 8 จังหวัด อาทิ เชียงราย น่าน พะเยา ควรเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศใกล้ชิด ส่วนแหล่งน้ำต้นทุน
ทั่วไทย มีทั้งสิ้น 36,147 ล้าน ลบ.ม. (44% จากช่วงปกติ) ภาคเหนือ มีปริมาณน้ำรวม 8,737 ล้าน ลบ.ม.หรือราว ๆ 35% เท่านั้น ทุกภาคมีปริมาณน้ำน้อย ตามแหล่งน้ำทั่ว ๆ ไป โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ที่ภาคเหนือ 11 แห่ง พบว่า มีปริมาณน้ำรวม 32,145 ล้าน ลบ.ม. แหล่งน้ำขนาดเล็ก 141,097 แห่ง ในภาคเหนือมี 34,358 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 1,931 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณรวมทุกแหล่ง มีน้ำใช้การได้ราว ๆ 21% หรือ 12,276 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น การที่ฝนตกกระจายในขณะนี้ จะส่งผลดีต่อน้ำต้นทุนที่ต้องเร่งจัดเก็บเพื่อใช้ในฤดูแล้งปีหน้า

ร่วมแสดงความคิดเห็น