EDPROT MODEL นวัตกรรมการสอนในศตวรรษที่ 21 คณะครุศาสตร์ มวร.เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการวิพากษ์งานวิจัยเรื่อง “ผลการใช้ EDPROT MODEL ในการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู” โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตรจารย์ ว่าที่ร้อยตรีสกล แก้วศิริ คณบดีคณะครุศาสตร์เป็นประธานและให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมมิลาน โรงแรมเมอร์เคียวเชียงใหม่ โครงการนี้ดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และพระราชบัญญัติและนโยบายต่าง ๆ ด้านการศึกษา

โดยโครงการมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยดังนี้ 1) สภาพการจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนแบบ EDPROT MODEL ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และหาประสิทธิภาพ และ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้ EDPROT MODEL ในการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู

 

สำหรับคณะผู้วิจัยประกอบด้วยคณาจารย์คณะครุศาสตร์ มวร.เชียงใหม่ ดังมีรายนามดังนี้ อาจารย์ ดร.ประพิณขอดแก้ว หัวหน้าโครงการรองศาสตราจารย์ ดร.พิทยาภรณ์ มานะจุติ ผู้ร่วมวิจัย อาจารย์ ดร.รุ่งทิวา คนการณ์ ผู้ร่วมวิจัย ซึ่งผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพการจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู โดยรวมอยู่ในระดับมาก 2) ผลการสอนแบบ EDPROT MODEL ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต มีประสิทธิภาพ อยู่ในระดับดีมาก และ 3) ผลการใช้ EDPROT MODEL ในการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู อยู่ในระดับมาก สรุปได้ว่าการสอนในรูปแบบ EDPROT MODEL มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 และพัฒนาเพื่อการศึกษาไทยในอนาคต  ซึ่งผลการวิจัยทางคณะผู้วิจัยจะได้ดำเนินการตีพิมพ์บทความเผยแพร่ในวารสารทางด้านการศึกษาต่อไป

รองศาสตรจารย์ ว่าที่ร้อยตรีสกล แก้วศิริ คณบดีคณะครุศาสตร์ ได้กล่าวว่า “การสอนแบบ EDPROT MODEL ได้สร้างและพัฒนาขึ้นโดยท่านหัวหน้าและคณาจารย์ภาควิชาหลักสูตรและการสอน ก็มีอาจารย์ผู้ทรงหลายท่านนะครับ ก็ได้พยายามที่จะสรรค์สร้างนวัตกรรมการศึกษาใหม่ ๆ โจทย์ที่ให้ไปก็คือว่าให้ลองสังเคราะห์การสอนในศตวรรษที่ 21 ทั้งหมดที่มันเหมาะกับประเทศไทย เหมาะกับสภาพของเราและเป็นตัวของเราเอง ในที่สุดก็มีกระบวนการสังเคราะห์ ความจริงผมให้งบประมาณสนับสนุนไปไม่มากเลย ถือว่ามันเป็นงานเร่งด่วน ก็ให้งบประมาณเร่งด่วนของคณบดีไปด้วย แล้วเราก็ได้งานมาเป็นเริ่มต้น แล้วหลังจากนั้นสิ่งที่เราต้องการก็คือเราต้องการขยายผลในภาควิชา ชึ่งท่านก็ไปลองใช้กัน รู้สึกจะ 1 ภาคเรียน ทีมงานนี้สังเคราะห์ขึ้นมาเสร็จก็ไปลองทดลองใช้หลังจากนั้น เราก็มาขยายผลในคณะของเราในตอนที่พัฒนาบุคลากร แล้วสุดท้ายเราก็ขยายผลไปถึงต่างคณะ”

คณบดีฯ ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “ตอนนี้ชื่อของ EDPROT MODEL น่ะ เราได้พูดกันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว ท่านกรรมการที่มาตรวจประกันคุณภาพคุ้นแล้วท่านไม่ถามแล้ว ว่า EDPROT MODEL คืออะไร แต่ปีแรกท่านถามนะครับ ถามด้วยความสนใจว่ามันก็เป็นชื่อเดียวในประเทศไทยที่เกิดชื่อนี้ขึ้น แล้วก็เป็นลิขสิทธิ์ของเรา ลิขสิทธิ์ตัวนี้ผมขอไว้ว่าเป็นลิขสิทธิ์ของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ไม่ใช่เป็นลิขสิทธิ์ของท่านหนึ่งท่านใดที่เป็นทีมนำก็เป็นอย่างนั้นนะครับ แล้วเราก็มีการขยายผลไปถึงต่างคณะ ซึ่งคือคณะผลิตร่วม เราทำงานมาเป็นระบบนี้แล้วสุดท้ายนี่เราก็ขยายไปถึงนักศึกษา ซึ่งขณะนี้เราทดลองไปเพียงกลุ่มเดียวนะครับ นั่นก็คือกลุ่มการประถมฯ ซึ่งก็ได้รายงานวิจัยออกมาแล้วนะครับ แล้วเราก็เก็บไว้เป็น เอกสารหลักฐานที่เราจะเอาไว้ที่ศูนย์พัฒนาครู ซึ่งในอนาคตถ้าเกิดมีใครที่อยากจะสืบสาวราวเรื่องเรื่องเหล่านี้ก็จะมีเรื่องราวที่เป็นขั้นตอนมาเป็นลำดับทีนี้”

ร่วมแสดงความคิดเห็น