กรมอนามัย ห่วงเกษตรกรสัมผัสดิน โคลนพุ น้ำปนเปื้อนเชื้อโรค เสี่ยงเป็นโรคไข้ดิน

​นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงที่มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ อาจมีน้ำท่วมขัง โดยทั่วไปน้ำผิวดินมักปนเปื้อนเชื้อโรค โลหะหนัก และสารเคมี อาจเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ ซึ่งประชาชนกลุ่มเกษตรกรที่ทำไร่ ทำสวน ที่ต้องขุดดิน นับเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ปนเปื้อนในดิน โคลนพุ น้ำไม่สะอาด โดยผู้ป่วยโรคไข้ดิน จะมีอาการติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยไม่จำเป็นต้องมีรอยแผลหรือรอยถลอก ติดเชื้อในปอด โดยการสำลักน้ำ หรือหายใจเอาฝุ่นดิน หรือลมฝนเข้าสู่ปอด และจากการสัมผัสเชื้อในดินหรือน้ำ รวมทั้งการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน และผ่านทางการหายใจ

“ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้สูง มีอาการคล้ายปอดอักเสบติดเชื้อ โดยจะมีอาการทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง มีอาการไข้ ไอ เนื่องจากติดเชื้อในปอด มีอาการอักเสบหรือเป็นฝีที่ผิวหนัง และมีไข้สูง ดังนั้น เกษตรกร จึงควรระวังและป้องกันตนเองด้วยการลดสัมผัสดิน โคลนพุ และน้ำที่ไม่สะอาดหรือปนเปื้อนเชื้อโรค แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องสัมผัส ควรมีการสวมถุงมือยาง รองเท้าบูท และเมื่อเสร็จจากการทำงานแล้ว ควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดทันที เพื่อลดความเสี่ยงโรค” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น