พบนกยูงไทยหลายฝูง ในป่าใหญ่ อช.แม่ปืม เร่งจัดอบรมเครือข่ายอนุรักษ์นกยูงไทย สู่เมืองรักษ์นกยูงไทยระดับโลก พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

วันที่ 23 ส.ค. 63 เวลา 09.00 น. ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย นายมงคล แพ่งประสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแม่ปืม เป็นประธานฝึกอบรมเสริมสร้างการเรียนรู้ เรื่องการอนุรักษ์นกยูงไทย ภายใต้โครงการบูรณาการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก “เมืองรักษ์นกยูงไทยระดับโลก” สู่การท่องเที่ยวเชื่อมโยงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีนายวุฒิพงษ์ ดงคำฟู หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปืม และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนที่มีที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติแม่ปืมพื้นที่ อ.เมือง และ อ.พาน จ.เชียงราย จำนวน 80 คน

นายวุฒิพงษ์ ดงคำฟู หัวหน้าอทยานแห่งชาติแม่ปืม กล่าวว่า วันนี้ทางอุทยานฯ มีการอบรมเสริมสร้างการเรียนรู้ เรื่องการอนุรักษ์นกยูงไทย ภายใต้โครงการบูรณาการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก “เมืองรักษ์นกยูงไทยระดับโลก” สู่การท่องเที่ยวเชื่อมโยงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการพูดเกี่ยวกับเรื่องของนกยูงและการอนุรักษ์ เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแม่ปืม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา พบว่ามีนกยูงไทย หรือนกยูงเขียว มีอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีความต้องการที่จะอนุรักษ์นกยูงให้กับประชาชนที่อาศัยพื้นที่โดยรอบอุทยาน

จึงได้มีการประสานงานเอาเครือข่ายประชาชนพื้นที่โดยรอบอุทยานแห่งชาติแม่ปืมมาร่วมกันฝึกอบรม เป็นการให้ความรู้ เรื่องกฎหมาย หลักการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีการระดมความคิดกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำไปสู่เครือข่ายการอรุรักษ์นกยูงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปืม

โครงการนี้จะสามารถเชื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยว จุดไหนบ้างที่จะสามารถสร้างข่วงนกยูงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชนนำสินค้าโอท็อป ร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ โฮมสเตย์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ของนกยูง การจัดการท่องเที่ยวโดยมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการจัดการอบรมครั้งที่ 3 มีประชาชนในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.พาน จ.เชียงราย เข้าร่วมฝึกอบรม 80 คน

จากการสำรวจภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปืมครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ 2 จังหวัด ประกอบด้วย อ.เมือง อ.พาน อ.ป่าแดด ิ.แม่ลาว จ.เชียงราย แล อ.เมือง อ.แม่ใจ อ.ภูกามยาว จ.พะเยา มีเนื้อที่ 350.8252 ตารางกิโลเมตร หรือ 219,266 ไร่ ได้พบร่องรอยนกยูง ได้แก่ ตัว ขี้ รอยเท้า และขน เป็นต้น ในหลายจุด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กันเป็นฝูง 40-60 ตัว มักลงมากินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านที่ทำเกษตรกรรมริมพื้นที่อุทยานฯ ทางอุทยานจึงได้จัดสรรเงินอุดหนุนชดเชยความเสียหายให้แก่ชาวบ้านที่มีนกยูงลงมากินพืชผลทางการเกษตรเช่น ข้าวโพด เมล็ดถั่ว ธัญพืชต่างๆ พร้อมทั้งให้ความรู้เชิงอนุรักษ์ เพื่อพัฒนาแนวทางเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าเป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น