สมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังบรรยายสรุป เกี่ยวกับโครงการโคกหนองนาโมเดล

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 เวลา 09.30 น. ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน ตั้งอยู่ที่บ้านคัวะ หมู่ที่ 6 ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) คนที่ 1 และนายสมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานกรรมการ คนที่ 3 ลงพื้นที่ อำเภอท่าวังผา เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการโคกหนองนา โมเดล ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน พร้อมรับฟังความเป็นมาต้นน้ำน่าน จากนายชัยวัฒน์ ปัญญาวิริยกุล ที่เป็นวิทยากรในการบรรยายสรุป

จากนั้น นางณัฐนรี ศรีชัยยะ ผู้อำนวยการ กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดน่าน ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับการสร้างการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ โคกหนองนาโมเดล ที่มีพื้นที่ จำนวน 50 ไร่ ทั้งนี้ ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการลงพื้นที่ คณะกรรมการฯ จะนำไปดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป

สำหรับ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน  ก่อตั้งโดย น.ส.กุล ปัญญาวงค์ วัย 59 ปี อดีตคนทำหนังสือท่องเที่ยวธรรมชาติ ทำงานกับคนเมืองและอยู่ในเมืองมาตลอด จนเมื่อได้ฟัง อ.ยักษ์ พูดถึงปัญหาของน่าน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเอง จึงเกิดความรู้สึกไม่สบายใจและตั้งใจที่จะกลับมาซื้อที่ดิน และลงมือสร้าง “ชุมชนต้นน้ำน่าน” ให้เกิดขึ้นบริเวณที่ตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน แต่เดิมนั้นก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากสวนผลไม้ เช่น ลิ้นจี่ ลำไย ที่ปลูกแซมในสวนยางพารา กลายเป็นสวนยางเชิงเดี่ยว แต่เมื่อพี่กุลได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่  ก็พยายามฟื้นป่าที่ส่วนใหญ่เป็นต้นยางให้มีพืชชนิดอื่นขึ้นแซมด้วย“มีทั้งกล้าไม้เดิมที่งอกขึ้นมาเอง และกล้าไม้ที่ปลูกเพิ่มเข้าไป โดยจุดที่สูงที่สุดของพื้นที่ สูงจากระดับน้ำขึ้นไป 320 เมตร จะปลูกไม้ยืนต้นต่างๆ เช่น ตะเคียน ยางนา ประดู่ มะค่า ส่วนพื้นที่ระดับต่ำลงมาจะปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งพื้นที่ปลูกยางผสมผสานกับไม้ยืนต้นนี้ ถือเป็น 60% ของพื้นที่ทั้งหมด อีก 30% เป็นสวนลำไยที่ปลูกผสมผสานกับพืชอื่นๆ และอีก 10% คือพื้นที่นาและแหล่งเก็บน้ำ”

ปัจจุบันพื้นที่ของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน ได้พัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักกสิกรธรรมชาติ เป็นพื้นที่เรียนรู้ ศึกษาดูงาน และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นเกษตรกรรมยั่งยืน ให้แก่เกษตรกรและบุคคลทั่วไป รวมถึงการฝึกอาสาสมัคร ครูกสิกรรม สร้างกลุ่มขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัดน่าน และเครือข่ายทั่วประเทศ

ร่วมแสดงความคิดเห็น