รื้อม่อนแจ่มส่อเค้าวุ่น ชาวบ้านปะทะป่าไม้ โวยใช้ ม.25 โดยชอบหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั่วประเทศ และพื้นที่ม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นอีกเป้าหมายตามแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดิน เนื่องจากการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์โครงการหลวง

ทั้งนี้ หลังจากคณะของ นายธเนศพล ธนบุญยวัฒน์ เลขานุการ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ลงพื้นที่มาติดตามความก้าวหน้าการจัดระเบียบพื้นที่ม่อนแจ่ม ซึ่งพบว่า มีผู้เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ, พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ และ พ.ร.บ.โรงแรม ปลูกสร้างที่พัก รีสอร์ท จำนวน 113 ราย และ ทำผิดชัดเจน 30 ราย จำเป็นต้องใช้ ม.25 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ดำเนินการ

ล่าสุดปรากฎว่าความเคลื่อนไหวของ “วิสาหกิจชุมชนม่อนแจ่ม” มีการนำเสนอเหตุการณ์ที่ชุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตาม ม.25 รื้อถอน สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ม่อนแจ่ม ผ่านเพจและสื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มชาวบ้าน โต้แย้งการที่ป่าไม้ใช้อำนาจมาตรา 25 ทั้ง (1) ที่ระบุว่า สั่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรือให้งดเว้นการกระทำใด ๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในกรณีที่มีข้อเท็จจริงปรากฏหรือเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.นี้, (2) สั่งเป็นหนังสือให้ผู้กระทำผิดต่อ พ.ร.บ.นี้ รื้อถอนแก้ไขหรือทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภายในเวลาที่กำหนดให้ และ (3) ยึด ทำลาย รื้อถอน แก้ไขหรือทำประการอื่น เมื่อผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตาม (2) ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิดหรือรู้ตัวผู้กระทำผิดแต่หาตัวไม่พบ คำสั่งตามข้อกฎหมายที่เจ้าหน้าที่อ้างเป็นคำสั่งทางปกครองนั้น ชอบด้วยระเบียบวิธีปฏิบัติหรือไม่

ในระหว่างการหารือร่วมกันของกลุ่มชาวบ้านม่อนแจ่ม ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ประกอบการ และกลุ่มเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเปิดประเด็น เกี่ยวกับ ม.25 ในหลักการที่ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้ถูกสงสัยว่ากระทำความผิด กระบวนการยุติธรรม ต้องรอการตัดสินทั้งสิ้น แต่กรณีม่อนแจ่มนั้น เจ้าหน้าที่จะสามารถกระทำการรื้อถอน เป็นการถูกต้องมากน้องเพียงใด “ทำไมต้องเร่งรีบรื้อถอน ถ้ารอให้ขั้นตอนต่าง ๆ ยุติแล้วใช้ ม.25 น่าจะถูกต้อง เพราะหากรื้อถอนแบบนี้ชาวบ้านเสียหายหนักมาก เนื่องจากมีการลงทุนไม่น้อย ในแต่ละแห่ง ”

โดยเจ้าหน้าที่ผู้กี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้, ตำรวจ กล่าวชี้แจงว่า กระบวนการต่าง ๆ ให้เวลา ผู้ถูกกล่าวหามายื่นเรื่องชี้แจง อุทธรณ์ตามคำสั่ง จนล่วงเลยมาแล้ว และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดเรื่องวุ่นวายกันในชั้นพนักงานสอบสวน ขั้นตอนตามกฎหมายต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ดำเนินครบถ้วน

“เจ้าหน้าที่มีอำนาจรับผิดชอบตามระเบียบ กฎกระทรวงรองรับ ต้องมาดำเนินการทางปกครอง เรื่องข้อกฎหมายที่ถูกนำเสนอโต้แย้งกันนั้น ถ้าหากชาวบ้านจะดำเนินการตามที่ตั้งใจ ก็ทำไป ทางเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติภารกิจตามคำสั่ง นโยบายในการจัดระเบียบพื้นที่ให้ถูกต้อง เป็นการทำตามหลักทางปกครอง ที่ต้องถือปฏิบัติ จึงไม่ต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษา เพราะการกระทำผิดเกิดหลังมีประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นเขตป่าสงวน ซึ่งเจ้าหน้าที่ หรือใครก็มองเห็นสภาพม่อนแจ่มแล้วว่า เป็นอย่างไร ส่วนที่ต้องใช้ ม.25 ดำเนินการนั้น ทุกขั้นตอน มีการกลั่นกรอง มีระยะเวลาที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น ถ้าโต้แย้งกันก็ไม่จบ”

ชาวบ้านหลายราย ที่ประกอบการในพื้นที่ม่อนแจ่ม ยอมรับว่า รออีกไม่นาน จนมีคำสั่งศาลตัดสินออกมาก็น่าจะไม่เกิดความเสียหาย และชาวบ้านที่มีกิจการ รีสอร์ท ที่พัก อะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็มีการแก้ไข ส่วนที่เข้าไปรื้อถอน ก็เห็นเจ้าของทั้งนั้น ไม่ได้หนีไปไหน ทำไมต้องเร่งรีบรื้อถอน “ถ้ามีการตัดสินแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าถ้ามีความผิด จะยอมรับชดใช้ค่าเสียหายนั้น ไม่ใช่เอาภาษีเราที่จ่ายไป มาใช้คืนในสิ่งที่อาจใช้อำนาจ ผิดพลาดไป”

คณะทำงานจัดระเบียบพื้นที่ ม่อนแจ่ม กล่าวว่า ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ไม่เสียขวัญ เพราะแต่ละหน่วยงานที่มาร่วมทำงานกันเชิงบูรณาการ มีข้อมูลรอบด้าน ทำหน้าที่ ตรงไป ตรงมา และมีกรอบปฏิบัติชัดเจนว่า ใน 113 รายนั้น ที่ต้องแก้ไขมี 82 ราย ต้องแนะนำ ให้แก้ไขอะไรบ้าง ทางเลขาฯ รัฐมนตรี ย้ำชัดเจน ส่วน 30 ราย ที่ไล่รื้อถอน ทุกขั้นตอน ล่วงเลยมานาน ยื้อเยื้อ ประวิงเวลาจนเกิดปัญหาเช่นที่ปะทุขึ้นแบบนี้

“ไม่ใช่เวลามาโต้เถียง โต้แย้งข้อกฎหมาย ม.25 ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติก็มี ม.157 ละเว้นอีก และการดำเนินการไม่ใช่ไปรังแก กลั่นแกล้งรายใดทั้งสิ้น ผิดก็คือผิดให้เวลา อุทธรณ์ ยื่นชี้แจง ครบถ้วนหมด บรรดากฎกระทรวง เอกสารแนบท้ายที่กล่าวถึงถ้าเป็นป่าสงวน ใครบุกรุกก็ผิด แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่มีขั้นตอน กรอบการพิจารณาแต่ละพื้นที่ เช่น อ่างขาง ก็เห็น ๆ กันอยู่ วันนี้ มาม่อนแจ่ม และยังมีอีกหลาย ๆ แหล่งที่เตรียมดำเนินการให้ถูกต้อง และบรรดาข้อความที่นำเสนอผ่านสื่อสังคม คงไม่ถือสาหาความ เนื่องจากเข้าใจชาวบ้านส่วนหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบครั้งนี้ ”

ด้านนักกฎหมาย สำนักงานดังในเชียงใหม่ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า สาระที่นำเสนอของชาวบ้าน ต่อกรณีแค่สงสัยว่าทำผิดก็สามารถรื้อบ้านได้เลยหรือ กฎหมายประเทศไหนกัน จริง ๆ แล้ว หลักการอยู่ร่วมกันในสังคม มี 3 ส่วนที่นักกฎหมาย นักปกครอง ตระหนักดี คือ หลักนิติศาสตร์ หลักนิติธรรม และหลักนิติรัฐ

“บางเรื่อง จะถือตรงตามกฎหมายก็อาจมีความวุ่นวายในสังคมตามมา แต่ถ้าหย่อนยาน กฎกติกา สังคมก็เละเทะ ซึ่งกรณีม่อนแจ่มนั้น เจ้าหน้าที่ต้องทำตามหลักการปกครอง และชาวบ้านที่โต้แย้งก็ลองตรองดูว่า พื้นที่ตรงนั้น หลักแรกเริ่มกำหนดเป้าประสงค์เพื่ออะไร และวันนี้ สภาพที่ปรากฎเป็นอย่างไร แน่นอนทุกคนมีคำตอบแตกต่างกัน ควรเร่งหาทางออกเพื่อประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน”

ทีมข่าวตรวจสอบ กิจการที่พัก ในรายชื่อ 30 แห่ง ที่ขีดเส้นเตรียมรื้อถอน พบว่า ยังมีการรีวิว ประกาศเปิดจองห้องพัก มีทั้งช่วงลองวีคเอนท์ 4-7 ก.ย. ที่จะถึงนี้ และช่วงเทศกาลปีใหม่ มีการจองห้องพัก, โดม, เต้นท์ที่พัก เป็นจำนวนมากด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น