คุมเข้มให้สัญชาติไทย ขั้นตอนตรวจสอบรัดกุม อย่าหลงเชื่อแก๊งมิจฉาชีพ

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า ตามที่ปรากฏทางสื่อเรื่องการได้สัญชาติไทยอย่างไม่ถูกกฎหมายของ
คนต่างด้าว และมีบางกลุ่มบุคคลอ้างบริการติดต่อประสานการจัดทำนั้น กรมการปกครอง ได้กำชับทุกพื้นที่ติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ในการติดต่อขอทำบัตรที่เป็นเอกสารทางราชการทุกประเภท

สำหรับประเด็นการพิจารณาเรื่องให้สัญชาติและการตรวจสอบการขอสัญชาติไทยตามกฎหมาย มีขั้นตอนและกระบวน งานตรวจสอบตามกฎหมายอย่างเข้มงวด รัดกุม ผู้ขอต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติในหลายระดับชั้น ด้วยความละเอียดถี่ถ้วน เพื่อป้องกันการกระทำทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย โดย การขอสัญชาติไทย จำแนกได้ 2 ประเภท คือ คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในประเทศ (ไม่ได้เกิดในไทย) จะมีช่องทางขอสัญชาติไทย โดยแปลงสัญชาติและการขอถือสัญชาติไทยตามสามีไทย เริ่มยื่นคำร้องต่อผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล หรือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ตามภูมิลำเนา) จังหวัดนั้น ๆ จากนั้นคณะทำงานระดับจังหวัดจะตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง ก่อนส่งเรื่องมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติพิจารณาตรวจสอบก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุญาต เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือกราบบังคมทูล (กรณีขอแปลงสัญชาติไทย) เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไป

อีกกลุ่มนั้นจะเป็นบุคคลต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย เช่น กรณีขอลงรายการสัญชาติไทยของบุคคลที่ถูกถอนสัญชาติหรือไม่ได้สัญชาติไทย เพราะประกาศของคณะปฏิวัติ เมื่อปี พ.ศ. 2515 จะต้องมีการยื่นคำขอต่อนายอำเภอ เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ว่าถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด นายอำเภอจะอนุมัติ และส่งคำร้องมายังสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อพบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องก็จะกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก (เลขคนไทย) แจ้งอำเภอเพื่อเรียกผู้ยื่นคำขอ มาดำเนินการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ต่อไป

สำหรับกรณีขอสัญชาติไทยให้แก่บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ครม. กำหนด ต้องยื่นคำขอต่อนายอำเภอเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติก่อน ถ้าผู้ขอมีอายุ 18 ปีขึ้นไป จะส่งคำร้องพร้อมหลักฐานไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบ เมื่อพบว่าถูกต้องครบถ้วน จึงจะพิจารณาอนุมัติและส่งคำร้องไปยังกรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบในขั้นสุดท้าย จึงจะกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก (เลขคนไทย) และแจ้งจังหวัด อำเภอเพื่อเรียกผู้ยื่นคำขอมาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ต่อไป

 

ทั้งนี้ขอยืนยันว่า การได้มาซึ่งสัญชาติไทย มีกระบวนการในตรวจสอบคุณสมบัติในหลายระดับชั้นด้วยความละเอียด
รอบคอบ รัดกุมตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่ ทุกระดับชั้นต้องพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ ป้องกันการกระทำทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอสัญชาติไทย หรือพบเบาะแสการทุจริต หรือสงสัยเป็นขบวนการ มิจฉาชีพ แจ้งสายด่วน 1548สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
ด้านบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว (บัตรชมพู) เป็นส่วนรับผิดชอบของกรมแรงงาน ซึ่งมอบหมายกรมจัดหางาน โดย
สำนักงานจัดหางานจังหวัด ดูแลรับผิดชอบแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการต่อวีซ่า 2021 แล้ว จัดทำทะเบียนประวัติและบัตรชมพู ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2563

ด้าน มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่า กระบวนการยื่นเรื่องขอสัญชาติในพื้นที่ภาคเหนือนั้น จาก
กรณีศึกษาจะพบในกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้สูงอายุ ขั้นตอนค่อนข้างอุปสรรคหลายประการจนทำให้เกิดความล่าช้าและผู้เฒ่าบางคนเสียชีวิตก่อนจะได้บัตรประชาชน ในฐานะผู้ประสานงานนั้น กระบวนการจัดทำบัตร การขออนุญาต ยืนยันว่ารัดกุม เป็นไปตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียบราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พศ. 2543 (ระเบียบ 43) ทำให้ผู้ที่ได้รับบัตร เข้าถึงสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สิทธิพื้นฐานต่าง ๆ ของคนไทย

ทั้งนี้กระบวนการแปลงสัญชาติ ซึ่งมีการกำหนดเกณฑ์ และขั้นตอนที่ไม่สอดคล้องกับสภาพชีวิต และสังคมของผู้เฒ่า ได้แก่ การตรวจสอบประวัติที่เกี่ยวกับอาชญากรรม ยาเสพติด ความมั่นคงของรัฐ เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ผ่านขั้นตอนจากผู้ใหญ่บ้าน ถึงอำเภอ จังหวัด กรมการปกครอง ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบ แล้วทูลเกล้าฯ หลาย ๆ ฝ่ายก็พยายามปรับปรุงแก้ไข ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยไม่เกิดช่องโหว่ ในการแสวงหาประโยชน์จากการจัดทำบัตรทุกประเภท

ร่วมแสดงความคิดเห็น