รมว.อว พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามงานวิจัยพัฒนาพื้นที่ “ต้นแบบของมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาพื้นที่กับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก”

วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินการโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ณ TCDC เชียงใหม่ ศูนย์กลางความรู้ด้านการออกแบบและบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ จังหวัดเชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ร่วมให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินโครงการแก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะ ในโอกาสที่เดินทางมาตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานโครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่ มทร.ล้านนา มีความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินงานวิจัยพัฒนาพื้นที่จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกับชุมชนพื้นที่และมีรูปธรรมความสำเร็จของ “ต้นแบบของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่กับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจ บนฐานวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ การพัฒนาอัตลักษณ์พื้นถิ่น และการพัฒนากลไกเพื่อดูดซับเศรษฐกิจภายในพื้นที่ จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานวิจัยและนวัตกรรม

โดยในงานได้มีการจัดกิจกรรมนิทรรศการงานวิจัย“มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่กับการสร้างเศรษฐกิจฐานรากผ่านการพัฒนา ผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์พื้นถิ่น” ประกอบด้วยโครงการ Koyori Project 2020 โครงการวิจัยพัฒนาเอกลักษณ์และการเสริมคุณค่าของหมู่บ้าน OTOP หัตถกรรมสิ่งทอในเขตภาคเหนือตอนบน อีกทั้งยังมีนิทรรศการ สรุปภาพรวมการดำเนินงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้แก่  โครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านทรัพยากรทางศิลปะและวัฒนธรรมเมืองแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการการวิจัยและกระบวนการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประเภทผลิตภัณฑ์ผ้าและสิ่งทอพื้นถิ่นของอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ บนฐานทรัพยากรชุมชนเพื่อมุ่งสู่การค้าที่เป็นธรรม

 

นอกจากนี้ มทร.ล้านนา ยังได้นำเสนอโครงการ โครงการเมืองนวัตกรรมเกษตรและอาหารล้านนา ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากร และทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ นวัตกรรม ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ผ่านการผลิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมจากบุคลากรของมหาวิทยาลัย สู่การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ
ประกอบด้วยโครงการ 1. โครงการการยกระดับกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ 2. โครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านทรัพยากรทางศิลปะและวัฒนธรรมเมืองแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ 3. โครงการการวิจัยและกระบวนการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผลิตภัณฑ์ผ้าและสิ่งทอพื้นถิ่นของอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ บนฐานทรัพยากรชุมชนเพื่อมุ่งสู่การค้าที่เป็นธรรม 4. โครงการการวิจัยพัฒนาเอกลักษณ์และการเสริมคุณค่าของหมู่บ้าน OTOP หัตถศิลป์ในเขตภาคเหนือตอนบนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตลาดด้วยนวัตกรรมและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ตลอดห่วงโซ่ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

ร่วมแสดงความคิดเห็น