ยก “วัดหมื่นล้าน” ต้นแบบอนุรักษ์วัดเก่าแก่ในเมืองเชียงใหม่ ไม่ให้ถูกทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เครือข่ายอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า จากกรณีที่มีการพัฒนาวัดหมื่นล้าน ย่านถนนท่าแพ ซึ่งสร้างขึ้นช่วงปีพ.ศ.2002-2005 รัชสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนา องค์ที่ 5 ถือว่าเป็นวัดโบราณเก่าแก่คงคู่นครเชียงใหม่ โดยศาสนสถานภายในวัดมีทั้งพระเจดีย์ พระวิหาร สิ่งปลูกรูปทรงสถาปัตยกรรมศิลปะพม่า ต่อมาทางวัดมีการบูรณะซ่อมแซมพระวิหาร มีการทาสีชาดบานประตูวิหารปิดทับลายรดน้ำเดิม ซึ่งเป็นลายรดน้ำที่สร้างขึ้นในราว พ.ศ.2460 ส่งผลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวตื่นตระหนกกับการบูรณะที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคม

จนกระทั่งสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ได้ประสานไปยังวัดและได้ขอให้วัด หยุดการดำเนินงานบูรณะซ่อมแซมไว้เป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อตรวจสอบโดยละเอียดและดำเนินการแก้ไขต่อไป ซึ่งวิหารวัดหมื่นล้าน ยังไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีลักษณะรูปทรงสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมแบบล้านนาประยุกข์ มีการบูรณะ ซ่อมแซม ต่อเติมมาหลายยุคหลายสมัย ตามการใช้ประโยชน์ของอาคาร ลายรดน้ำที่บานประตูวิหาร บริเวณอกเลาของประตู เขียนลายรดน้ำเป็นภาษาล้านนาข้อความเดิมระบุการสร้างขึ้นใน พ.ศ.2460

ทางวัดและประชาชนชาวเชียงใหม่ ต้องการจะรื้อฟื้นลายรดน้ำบนบานประตูวิหารนี้ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ได้ประสานผู้เชี่ยวชาญ จากกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ฯ และกลุ่มอนุรักษ์จิตกรรมฝาผนังฯ กรมศิลปากร ตรวจสอบและพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการลอกสีที่ทาทับออก เพื่อฟื้นคืนสภาพได้หรือไม่

ภายหลังจากคณะทำงานเข้า ทดสอบการลอกสีที่ทาทับบนบานประตูวิหารได้พิจารณาเลือกเคมีที่เหมาะสมที่จะใช้ในการดำเนินงาน เพื่อการฟื้นคืนสภาพลายรดน้ำ พบปัญหาบริเวณรอยต่อของแผ่นไม้ มีลักษณะเป็นร่อง อิพ็อกซี่ได้เข้าไปอุดและแข็งตัว ทำให้การดำเนินงานส่วนนี้ค่อนข้างยาก ต้องพิจารณาโดยภาพรวมในการอนุรักษ์ อีกทั้งลายรดน้ำเดิมมีการเสื่อมสภาพของรัก ที่รองพื้นก่อนเขียนลาย

ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ฯ กรมศิลปากร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบชั้นสีบานประตูวิหารวัดหมื่นล้าน ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วิเคราะห์และสรุปชั้นของสีที่ทาทับบนบานประตูวิหารวัดหมื่นล้านชั้นที่ 1 อิพ็อกซี่หรือเรซิ่น เพื่อปรับผิวให้เรียบมีความหนาบางต่างกัน ชั้นที่ 2 สีน้ำมันสีแดง มีลักษณะบาง ชั้นที่ 3 สีน้ำมันสีดำ ปิดทับเพื่อรอการเขียนลายรดน้ำใหม่

“กระบวนการขัดลอกสีที่ทาทับ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือชั้นที่ 1 อิพ็อกซี่หรือเรซิ่น เพราะเป็นวัสดุที่ไม่มีตัวทำละลาย และหากปล่อยไว้จะทำปฏิกิริยากับอากาศทำให้แข็งตัว จับยึดแน่นกับภาพลายรดน้ำเดิม แต่ยังไม่เซ็ทตัว มีการทาสีน้ำมันแดงและดำปิดทับ กลายเป็นฟิล์มไม่ให้ชั้นนี้ถูกอากาศและแข็งตัว จึงพอที่จะลอกสีออกมาได้ เวลาดำเนินการจะต้องประคองการที่จะไม่ให้เรซิ่นแข็งตัวเร็วขึ้น ต้องค่อย ๆ ลอกสีที่ปิดทับอยู่ทีละส่วน ไม่ลอกออกทีเดียวทั้งหมด ได้มีการทดสอบน้ำยาเคมีหลาย ๆ ตัว เพื่อเลือกใช้ตัวที่มีประสิทธิภาพและป้องกันรักษาชั้นสีเดิมของลายรดน้ำบนบานประตูวิหาร ให้ฟื้นคืนสภาพสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้ “

ล่าสุดคณะนักศึกษา อาจารย์กลุ่มวิชาศิลปะไทย หลักสูตรทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและทดลองปฏิบัติงานอนุรักษ์รื้อฟื้น ภาพลายรดน้ำบนบานประตูวิหารวัดหมื่นล้าน ร่วมกับคณะทำงานด้านอนุรักษ์ของกรมศิลปากร

ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองโบราณ เชียงใหม่ เปิดเผยว่า องค์ความรู้งานด้านอนุรักษ์ศิลปกรรม และการปฏิบัติการอนุรักษ์ลายรดน้ำบานประตูวิหารวัดหมื่นล้าน จะเป็นอีกต้นแบบ ขยายผลในการอบรมถวายความรู้เรื่องการอนุรักษ์โบราณวัตถุ โบราณสถานให้กับพระสงฆ์ ควบคู่ไปกับการหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข ข้อระเบียบกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีการอ้างกิจกรรม โครงการพัฒนาวัด ศาสนสถาน จนกลายเป็นการทำลายโบราณสถาน โบราณวัตถุอันทรงคุณค่า และนำไปแสวงหาประโยชน์โดยไม่เหมาะสมต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น