พัฒนาข่วงหลวงเชียงใหม่ รื้อคุกเก่า ทุ่ม 95 ล้าน เนรมิตเวียงแก้วโฉมใหม่

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากคณะทำงานโครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว (บริเวณทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิม) ว่า ล่าสุดโครงการซึ่งลงนามในสัญญาจ้าง 15/2560 นั้นได้ปรับเปลี่ยนช่วงรับจ้างเป็นเริ่มต้น 15 กรกฎาคม 2563 – 25 กรกฎาคม 2565 ระยะเวลาก่อสร้าง 660 วัน โดยลักษณะงานจะประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารโถงแห่งการระลึก อาคารข้อมูลและสำนักงาน อาคารบริการ งานผังบริเวณ งานอุปกรณ์ประกอบ งานปฏิมากรรม งานพรรณไม้และงานสวน ในวงเงิน 95 ล้านบาท

“ยอมรับว่า งบเริ่มต้น 150 ล้านบาทนั้น มีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม จนกระทั่งมีการประกวดราคาจ้างก่อสร้างช่วงเมษายน 2560 ราคากลาง 100,783,000 บาท และ บริษัททำเลไทย ธรรมชาติ ชนะด้วยราคาต่ำสุด 95 ล้านบาท”

สำหรับพื้นที่ในโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วนั้น เคยใช้เป็นเรือนจำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 เมื่อย้ายทั้งเรือนจำชาย และทัณฑสถานหญิงขอใช้พื้นที่ และต่อมามีการสร้างเรือนจำชายแห่งใหม่ที่แม่แตง จึงย้ายทัณฑสถานหญิงไปยังเรือนจำคุมขังชายที่แม่หยวก บริเวณแยกด้านหน้าศาลากลาง จ.เชียงใหม่ พื้นที่รกร้างว่างเปล่ามานานหลายปี จนรัฐบาลมีมติ เมื่อ พ.ศ. 2556 ให้ สนง.พุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุ แปลงที่ ชม.1612 เนื้อที่กว่า 15-3-93 ไร่ เสนอของบ 150 ล้านบาทให้ งบเคยตกไปถึง 2 ครั้ง เพราะความล่าช้า ปัจจุบันสำนักงาน จ.เชียงใหม่ ดูแลรับผิดชอบโครงการนี้

บันทึกศึกษา ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มีข้อขัดแย้งกันหลายแง่มุม ว่า คุ้มหลวงเวียงแก้ว บ้างอ้างว่าเคยเป็นคุ้มเจ้าหลวง แห่งนครเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 เปรียบเสมือนวังแห่งราชอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ในอดีต และงานศึกษาค้นคว้าบางด้าน ระบุว่า จากการตรวจสอบจากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 เวียงแก้วแห่งนี้ น่าจะเป็นคุ้มของพม่า ส่วนวังหลวงพระเจ้ามังรายน่าจะอยู่ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ต่อมาสมัย พล.ต.เจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 บริเวณนี้ถูกแปรสภาพเป็นคุก ซึ่งตรงกับรัชสมัย รัชกาลที่ 5

นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า ไม่ว่าบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในสถานที่แห่งนี้จะฉายชัดออกมาด้านใด ยังคงเป็นความท้าทายในการศึกษา แสวงหาข้อเท็จจริงตามกระบวนการด้านโบราณคดีต่อไป เมื่อยุคสมัยปัจจุบัน มาถึงจุดที่มีการรื้อถอนเรือนจำ ทำลายสิ่งปลูกสร้าง ลบขนบความเชื่อเดิม ๆ ออกไป พร้อม ๆ กับรูปแบบที่มีการประกวดตามแผนพัฒนาพื้นที่ สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ รูปแบบในการสร้างสรรค์ พัฒนาพื้นที่ตรงนี้ มองจากมุมสูง จะเห็นว่าบริเวณรายรอบพื้นที่มีการพัฒนา ใช้พื้นที่ตามยุคสมัย ด้านทิศใต้มีถนนคั่นกลางด้านหน้าทัณฑสถาน อาคารที่ว่าการ อ.เมือง ขณะนี้ย้ายไปอยู่อาคารหลังใหม่บริเวณศูนย์ราชการ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ในขณะนี้แล้ว

ด้านทิศตะวันตก มีอาคารบ้านเรือน และวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออก เป็นชุมชน อาคารบ้านเรือน และสำนักงานยาสูบและวิทยาลัยอาชีวศึกษา เชียงใหม่ หากพิจารณาผังรวม อาณาบริเวณตรงนี้ แบบแผน
ที่ตั้งธงกันไว้ว่าจะสร้างให้เป็น สวนสาธารณะ มีพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน เป็นปอดกลางเมือง เป็นลานกิจกรรม เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อย่าให้เสียงบโดยใช่เหตุแบบสวนบนพื้นที่การรถไฟ

“เพราะโครงการใหญ่ ๆ วงเงินไม่ว่าจะมากหรือน้อย ล้วนเป็นภาษีของประชาชน ที่รวบรวมนำมาพัฒนาท้องถิ่น งานพัฒนากับงานโบราณคดีต้องไปด้วยกัน อาคารบัญชาการ อาคารเฮือนเพ็ญ อาคารแว่นแก้วไว้ รวมถึงแนวกำแพง หอคอยมุมเรือนจำ”

ในรายงานการตรวจราชการมณฑลพายัพของสมเด็จในกรมพระองค์หนึ่ง ต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พรรณาว่า “นี่คือคุกที่สวยที่สุดเท่าที่เคยเห็น สร้างด้วยไม้สักทองเนื้อดี อาคารเหล่านี้มีคุณค่าในฐานะ สถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียล เมื่อ 100 ปีก่อน”

ทีมข่าวสอบถามความคิดเห็นประชาชนชาวเชียงใหม่ ส่วนหนึ่งมองว่า รูปแบบที่ชนะการประกวดน่าจะลงตัวเหมาะสม แต่ไม่ควรเน้นสิ่งปลูกสร้างมากไป ซึ่งตัวอย่างสวนบนพื้นที่การรถไฟ แรก ๆ ก็ดูดีสวยงาม แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งปลูกสร้าง ชำรุด ทรุดโทรม เพราะขาดการบำรุงรักษาต่อเนื่อง ถ้าหากเป็นสวน ก็ต้องคำนึงถึงงบประมาณ การดูแลเช่นกัน อย่าปล่อยให้มีเวทีเสวนา เปิดรับข้อเสนอ ทบทวน แก้ไข ปรับแบบมากไป เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลง ท้ายที่สุด ก็จะยืดเยื้อ เนิ่นนาน จนไม่สามารถลงมือทำอะไรสถานที่ได้อีก เพราะตั้งแต่เริ่มต้นแผนล่วงเลยมานานร่วม ๆ 7-8 ปีแล้ว งบที่เคยเสนอไป 150 ล้านบาท จนตกไป 2 ครั้ง เหลือเพียง 95 ล้านบาท ถ้าขืนล่าช้า งานค้างอีกคงกลายสภาพเป็นป่ารกกลางเวียงแน่นอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น