บุกรุกกำแพงเมืองโบราณ นครเชียงใหม่ อีกตัวอย่างพื้นที่ซุกปัญหา ยากแก้ไข

เครือข่ายอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า กำแพงเมืองเชียงใหม่สร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการสถาปนาราชอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพญามังราย เพื่อเป็นเมืองหลวง มีรูปแบบขุดคูเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละประมาณ 1,600 ม. นำดินที่ขุดคูเมืองขึ้นไปถมเป็นแนวกำแพงเมือง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือ คือ แจ่งศรีภูมิอันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้าน และประตูเมืองสี่แห่ง

ในปี พ.ศ. 2491 เนื่องจากกำแพงเมืองเชียงใหม่ มีสภาพทรุดโทรมลงอย่างมาก บางแห่งพังเป็นซากปรักหักพัง มีวัชพืชขึ้นรกอย่างมาก อีกทั้งยังบดบังทัศนียภาพของคนที่อยู่นอกกำแพงเมือง ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ จึงได้เริ่มรื้อกำแพงออก เพื่อสร้างถนนและเส้นทางคมนาคมในตัวเมืองเชียงใหม่ “จะเห็นได้ว่า บริบทเมืองเปลี่ยนแปลงไป ซากรอยอดีต ต้องทำหน้าที่ตามกิจกรรม โครงการที่เรียกว่า พัฒนาความเจริญของท้องถิ่น”

นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเชียงใหม่ เปิดเผยว่าในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุถึงกำแพงเมืองเวียงเชียงใหม่ชั้นในนั้น จะก่อสร้างด้วยอิฐในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว ราว ๆ พ.ศ. 2061 และไม่มีหลักฐานปรากฎว่ามีการบูรณะกำแพงเมืองจนถึงสมัยพระเจ้ากาวิละ ได้บูรณะกำแพงเมืองและคูเมืองใน พ.ศ. 2339-2363

นครเชียงใหม่ นอกจากจะมีเวียงเชียงใหม่ชั้นใน และเวียงเชียงใหม่ชั้นนอกแล้ว ยังมีเวียงอีก 2 แห่งด้วยกัน คือ เวียงสวนดอก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเวียงเชียงใหม่ ห่างออกไปประมาณ 800 เมตร โดยมีวัดสวนดอกตั้งอยู่ใจกลางเวียง และเวียงเจ็ดลิน ปัจจุบันอยู่บริเวณเชิงเขาทางขึ้นดอยสุเทพ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ถึงการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ ด้วยการนำภาพถ่ายประตูเมืองนครเชียงใหม่ (ประตูท่าแพชั้นนอก) ซึ่งระบุเวลาการถ่ายภาพไว้เมื่อ พ.ศ. 2442 กับรูปประตูเมืองทั้งชั้นนอกและชั้นใน ที่ปรากฏในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 มาพิจารณาประกอบกับข้อมูลเรื่องกำแพงและประตูเมืองมัณฑะเลย์ว่า

“ถ้าจะเปรียบเมืองมัณฑะเลย์กับเมืองอื่นที่ฉันได้เคยเห็นมา ดูคล้ายกับเมืองเชียงใหม่ยิ่งกว่าเมืองอื่น เป็นแต่เมืองเชียงใหม่เล็กกว่าและมิได้รักษาเหมือนอย่างมัณฑะเลย์ แม้ดินฟ้าอากาศก็คล้ายกัน…จะเห็นได้ว่า กำแพงและประตูเมืองนครเชียงใหม่นั้น มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับกำแพง และประตูเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งถ่ายแบบมาจากเมืองอมรปุระเป็นอย่างยิ่ง”

ในแนวกำแพงเมืองชั้นนอกนั้น เวียงใหม่จะมีหลักฐานแนวกำแพงดินด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประตูหัวก้อมทางทิศใต้ และประตูระแกง หรือประตูหล่ายแกง ที่มุมกำแพงดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 จะแสดงให้เห็นเส้นทางสัญจรระหว่างประตูเชียงใหม่และประตูแสงปรุงในแนวกำแพงเมืองชั้นในตรงไปประตูหัวก้อมและหายยา ซึ่งเป็นประตูเมืองชั้นนอกในแนวกำแพงดิน มีการทำสะพานข้ามลำคูไหวเชื่อมต่อกับเส้นทางคมนาคมที่ตัดผ่านท้องทุ่งนอกกำแพงดินด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรไปเมืองนครลำพูน ที่ประตูเมืองชั้นนอกทั้งสามนี้ ปรากฏรูปลักษณะในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 มีการก่อกำแพงอิฐเป็นแนวโค้งออกไปจากแนวกำแพงดิน กับมีประตูเมืองชั้นเดียวอยู่ที่กึ่งกลางแนวกำแพงอิฐโค้ง มีลักษณะพิเศษที่ประตูระแกงจะมีป้อมอยู่เหนือประตูเมือง

นักวิชาการผังเมือง กล่าวว่า คงเป็นการยากจะไล่รื้อชุมชน ตามแนวกำแพงเมืองชั้นนอกออกไป โดยไม่มีพื้นที่รองรับการเคลื่อนย้ายชุมชน แม้จะมีการกำหนดผังเมือง มีกฎหมายด้านโบราณสถานออกมา เนื่องจากกฎระเบียบบางอย่างมีมาตรการผ่อนปรน ประวิงเวลาในการแก้ปัญหา

“จนกระทั่งล่วงเลยมาขนาดนี้ มีสิ่งปลูกสร้างถาวร มีการครอบครองสิทธิ์ เปลี่ยนมือ ที่ต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรม บังคับใช้กฎหมาย ขนาดมีป้ายติดประกาศเตือนห้ามบุกรุกกำแพงเมืองโบราณ แนวกำแพงดิน มีโทษ จับ ปรับหน้าที่พักอาศัย ก็ทำอะไรไม่ได้”

ดังนั้นการที่หน่วยงานดูแล รับผิดชอบโบราณสถาน ซึ่งต่อมากำแพงเมือง-คูเมือง (ชั้นนอก) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 98 วันที่ประกาศ 19 ก.ย. พ.ศ. 2521 กำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 3682 วันที่ 8 มี.ค. พ.ศ. 2478 เพื่อตามกระแสอนุรักษ์ที่เริ่มตื่นตัว มีพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ออกมา เพื่อควบคุมดูแลมรดกแผ่นดิน โดยมีกรมศิลปากร เป็นกลไกสำคัญ

ล่าสุดสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานในพื้นที่ ก็ดำเนินการได้ในขอบเขตเพียงแสวงหาความร่วมมือกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนกำแพงงาม และชุมชนฟ้าใหม่ร่วมแรงร่วมใจกันกับชุมชนใกล้เคียง เครือข่ายภาคี หน่วยงานตำรวจ ทหาร จิตอาสา ฯลฯ ดำเนินกิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่กำแพงดิน (กำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นนอก) เพื่อปกป้อง คุ้มครอง พัฒนาและอนุรักษ์ โบราณสถานที่สำคัญของ จ.เชียงใหม่

“แต่กระบวนการ ฟ้องขับไล่ เคลื่อนย้ายชุมชนออกนอกแนวกำแพงดิน กำแพงเมืองโบราณ แล้วพัฒนาให้คงสภาพแหล่งโบราณสถาน ตามขอบเขตภารกิจ หน้าที่ ก็คงมีสภาพไม่แตกต่างจากพื้นที่เวียงกุมกาม พื้นที่เมืองอื่น ๆ ที่ปล่อยเวลาล่วงเลยมานาน จนยากจะแก้ไขได้ในเร็ววัน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น