ชีวิตสุดรันทด ป้าขายส้มตำวัย 58 ปี พิการขาขาด เช่าห้องพักแคบเท่ารูหนูอยู่อาศัย เคราะห์ซ้ำผลกระทบโควิด

วันที่ 8 ก.ย.63 ผู้สื่อข่าวได้ทราบข้อมูลว่า บนโลกโซเชียลได้มีการแชร์เรื่องราวของคุณป้าแม่ค้าขายส้มตำรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่ห้องเช่าแคบๆ ภายในบริเวณ ซอย 3 ถนนระแกง ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่ขณะนี้กำลังประสบกับปัญหาความเป็นอยู่ขาดแคลนรายได้และทุนทรัพย์ในการดำรงชีวิต โดยทุกวันต้องอาศัยเข็นรถเข็นจากที่พักเพื่อไปขายส้มตำที่บริเวณถนนย่านประตูเชียงใหม่ เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ แต่ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้ตอนนี้ ไม่สามารถขายของได้ จากที่แต่เดิมนั้นก็ขายได้เพียงประทังชีวิต แต่ช่วงหลังที่ผ่านมาแทบขายไม่ได้ จนตอนนี้ทำให้ไม่มีเงินพอจ่ายค่าที่พักและซื้อข้าวกิน ประกอบกับมีโรคประจำตัวที่ต้องรักษาแต่ก็ไม่มีเงินไปหาหมอหรือซื้อยา

โดยต่อมาเมื่อทางผู้สื่อข่าวทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงได้ติดต่อไปทางคุณป้าที่ปรากฎเรื่องราวบนโซเชียล และได้เข้าไปตรวจสอบ พบว่า ป้าคนดังกล่าว คือ นางสุรางคนา จันทร์เยี่ยม หรือ “ป้าสุ” อายุ 59 ปี ซึ่งเจ้าตัวอาศัยอยู่ในห้องเช่าแคบๆ เพียงแค่พอได้ซุกหัวนอน โดยภายในห้องเช่าดังกล่าวก็มีสภาพเสื่อมโทรม ประกอบกับเจ้าตัวก็มีสภาพพิการขาขาด เนื่องจากประสบอุบัติเหตุมาได้ 8-9 ปี ทุกวันก็ประกอบอาชีพแม่ค้าขายส้มตำ ตื่นแต่เช้าเข็นรถเช็นจากห้องพักไปขายของที่บริเวณตลาดประตูเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักประมาณ 2-3 กิโลเมตร ทุกวัน เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพประทังชีวิต แต่บางวันก็ขายของแทบไม่ได้ จนบางวันต้องกินข้าวคลุกน้ำปลาเพื่อประทังชีวิต

โดยทาง “ป้าสุ” เปิดเผยกับทางผู้สื่อข่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ถูกรถชนต้องตัดขาข้างซ้าย ทำให้กลายเป็นคนพิการ ทุกวันนี้ต้องใส่ขาเทียม โดยตนเป็นคนชาวจังหวัดพิษณุโลก มาอยู่เชียงใหม่ได้ประมาณ 10 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันก็อาศัยอยู่เพียงลำพังในห้องเช่าแคบๆ แห่งนี้ ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีลูกค้ารายหนึ่งเป็นหญิงสาวมาซื้อส้มตำที่หน้าห้อง สังเกตเห็นตนอาศัยอยู่ภายในห้องเช่าแคบๆ โทรมๆ ก็ตกใจที่ตนอาศัยอยู่ในที่แบบนี้ จึงได้นำภาพไปเผยแพร่ เพื่อช่วยเหลือ แต่ตนก็ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรบ้างเพราะไม่เคยติดตามข่าวในโซเชียล

ขณะเดียวกันตนได้อาศัยอยู่ห้องพักแห่งนี้มานานแล้ว โดยก่อนหน้านี้ก็ทำอาชีพแม่ค้าส้มตำ เมื่อก่อนนั้นก็พอขายได้วันละประมาณ 200-300 บาท เพียงพอจ่ายค่าเช่าห้องและซื้อข้าวปลา อาหารประทังชีวิต แต่พอหลังจากที่มีผลกระทบเรื่องโรคโควิด-19 ระบาดขึ้นมาก็ทำให้ได้รับผลกระทบไปด้วย จากเดิมที่ขายพอได้เงิน ตอนนี้กลับกลายเป็นแทบขายไม่ได้ บางวันขายส้มตำได้ 2 ครก ก็ดีใจแล้ว เพราะอย่างน้อยก็ยังพอได้เงิน แต่บางวันที่ขายไม่ได้ก็แย่หน่อย แต่ก็ต้องทนทำไปเพราะไม่อยากไปแบมือขอเงินใคร และเห็นว่าตนก็ยังพอมีแรงสู้ ก็ทำไปคิดเสียว่าเป็นการออกกำลังกาย โดยทุกเช้าตนยังคงเข็นรถเข็นขายส้มตำไปขายที่หน้าประตูเชียงใหม่ แต่ก็อยากให้มีลูกค้ามาอุดหนุนกันมากๆ ถือเป็นการช่วยเหลือตน ซึ่งตนยืนยันว่าอาหารที่ทำมีความสะอาด วัสดุและของที่นำมาปรุงก็ไม่สกปรก เพราะเวลาตนทำไม่เคยเอามือไปสัมผัสโดยตรง มีการใส่ถุงมือและทำความสะอาดล้างก่อนตลอด โดยตนจะเข็นรถเข็นไปขายทุกวันตั้งแต่เช้าจนถึงช่วงเที่ยงๆ ถ้าขายดีหน่อยก็ถึงช่วงบ่ายๆ เพราะต้องเก็บของเข็นรถเข็นกลับเอง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตนกำลังเดือดร้อนในต้อนนี้ก็คือเรื่องเงิน ที่ขณะนี้ค้างค่าเช่าห้องกับเจ้าของมาได้ประมาณ 3 เดือนกว่าแล้ว รวมเป็นเงินกว่า 6,000 บาท แต่ทางเจ้าของก็เห็นใจเพราะเห็นสภาพความเป็นอยู่ของตน ซึ่งทางเจ้าของก็ไม่ได้บังคับหรือทวง แต่ถ้าตนมีตนก็จะเอาให้ หรือวันไหนขายของมาได้ก็เก็บรวบรวมไว้ทยอยจ่ายให้กับเจ้าของ โดยที่ผ่านมา ตนก็เคยติดต่อโทรไปขอความช่วยเหลือกับทาง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือมอบของให้ แล้วก็ขาดการติดต่อไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืออีก ประกอบกับตอนนี้ตนก็มีโรคประจำตัวหลายโรคที่ไม่มีเงินไปหาหมอ เพราะไปแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ไม่มีเงินพอ ประกอบกับทุกวันนี้ตนก็แทบไม่มีเงินพอจะซื้อข้าวกิน

“ป้าสุ” กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อยากฝากถึงคนที่กำลังลำบากหรือว่ากำลังท้อแท้กับชีวิต อยากให้มีกำลังใจในการฟันฝ่าอุปสรรค เพราะตนรู้ว่าทุกคนก็ต้องสู้ชีวิต อย่างตนถ้าไม่สู้มัวแต่แบมือของเงินคนอื่นยังไงก็ไปไม่รอด นอกจากเราจะต้องออกแรงและช่วยเหลือตัวเองไป มากน้อยก็ยังดี ขอให้เราออกแรงไปเหมือนออกกำลังกาย ได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ในเมื่อเราลองสู้แล้ว แต่ให้มาแบมือขอเงินคนอื่นเหมือนขอทาน ใครๆ ก็ลำบากเหมือนกันหมด ตนจึงไมาคิดท้อถอย แม้ว่าจะป่วยมีโรคประจำตัวสารพัดโรค แต่ก็ยังทำงานหาเงินเพื่อช่วยตัวเอง แต่แค่อยากให้มองเห็นความลำบากตรงนี้ และแค่อยากให้มีคนเห็นใจ เมื่อเห็นตนไปค้าขายก็อยากให้ช่วยมาอุดหนุนกันมากๆ

ร่วมแสดงความคิดเห็น