องคมนตรี ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง และขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน ตามนโยบาย ครั้งที่ 10/2563

วันที่ 9 กันยายน 2563 เวลา 9.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 10/2563 ณ ห้องกัลปพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยองคมนตรีได้รับทราบผลความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ในตำบล แม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกองทัพบกในฐานะอนุกรรมการฯ ดำเนินการก่อสร้าง และกองทัพภาคที่ 3 ในฐานะคณะอนุกรรมการฯ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง สำหรับการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ได้รับความอนุเคราะห์การออกแบบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เน้นความร่มรื่นของร่มไม้ใหญ่ ด้วยพันธุ์ไม้พื้นถิ่นหายาก คาดว่าในต้นปี 2565 ศูนย์วิจัยต้นแบบแห่งนี้ จะพร้อมเริ่มใช้ในการปฏิบัติงาน

โดยที่ปัจจุบันนโยบายหลักของมูลนิธิโครงการหลวง มุ่งเน้นการดำเนินการให้ถูกกต้อง ไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยเฉพาะในการเข้าดำเนินการในพื้นที่สูง ซึ่งขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิโครงการหลวงซึ่งทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานทั้ง สถานีเกษตรหลวง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

องคมนตรี ยังได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ. ตาก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งล่าสุด โดยปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นธนาคารอาหารชุมชนบนพื้นที่สูง ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โดยเพาะขยายพันธุ์พืชท้องถิ่น พบว่า เหรียง ลูกเนียง ต๋าว ลิงลาว เจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ยังได้ทดสอบสาธิต การเก็บเกี่ยวผลผลิตมันเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Sp 61 (เนื้อสีม่วง) และ Sp 49 (เนื้อสีเหลือง) ซึ่งจะเป็นพืชทางเลือกสร้างอาชีพแก่เกษตรกรในพื้นที่ นอกจาก อาโวคาโด เคพกูสเบอร์รี พริกกะเหรี่ยง นอกจากนี้ยังได้แนะนำวิธีการเสียบยอดมะเขือเทศเชอรี่แก่เกษตรกร เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของโรคเหี่ยวเขียว โดยใช้ต้นมะเขือพวงเป็นต้นตอ เพราะมีรากที่หาอาหารได้ดี และทนทานการเข้าทำลายของโรค สำหรับการฟื้นฟูคุณภาพดินหลังการปลูกข้าวโพดนั้น ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้วิธีปลูกข้าวโพดเหลื่อมถั่วแดงหลวง เนื่องจากพืชตระกูลถั่วจะตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาเพิ่มในดิน รักษาความชุ่มชิ้น ขัดขวางการเจริญเติบโตของวัชพืช และรากยังช่วยให้ดินโปร่ง มีช่องอากาศ สามารถระบายน้ำได้ดีอีกด้วย

 

25

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น