ทต.บ้านกลาง ดันงบประมาณ ปี 2564 เป็นเงิน 119 ล้านบาท ผ่านฉลุย

นายอภิชาติ เทพชา ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายก ทต.บ้านกลาง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการประชุมสภา ทต.บ้านกลาง สมัยสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ทต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน โดยที่ประชุมสภาฯมี จ.ส.อ.ธีระศักดิ์ อุปะละสกุล ประธานสภาฯ พร้อมสมาชิกสภาฯ หัวหน้าส่วนราชการ ทต.บ้านกลาง ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2564 เป็นเงินทั้งสิ้น  119,000,000.00 บาท นั้น

ในการพิจารณาร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในครั้งนี้ สมาชิกสภาฯ มีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยแยกเป็นรายละเอียดตามแผนงานดังนี้ ด้านบริหารงานทั่วไป จำนวน 28,881,280.00 บาท, ด้านบริการชุมชนและสังคม จำนวน 64,978,450.00 บาท และด้านการดำเนินงานอื่น ๆ จำนวน 25,140,270.00 บาท รวม 119,000,000.00 บาท (หนึ่งร้อยสิบเก้าล้านบาทถ้วน) เพื่อใช้ในการดำเนินงานตามเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2564

ในปีนี้ (พ.ศ. 2563) ตั้งงบประมาณรายจ่ายลดลงจากปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562) กว่า 31 ล้านบาท เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลออก พรฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เพื่อช่วยบรรเทาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 โดยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา ร้อยละ 90 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้เทศบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยลงกว่า ร้อยละ 90 มีผลต่อเสถียรภาพการคลังและความคล่องตัว ในการดำเนินงานของเทศบาลลดลงไปด้วย

โดย ทต.บ้านกลาง เป็นที่ตั้งของการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (กนอ.) ม.4 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน มีรายได้หลักจากการจัดเก็บภาษี ส่งผลให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีฯในปี 2563 ลดลงกว่า 46 ล้านบาท เป็นเหตุให้มีการชะลอหรืองดโครงการก่อสร้างต่างๆไปหลายโครงการ ส่วนในปีงบประมาณ 2564 ได้มีการประชุมงบประมาณร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบถึง 4 ครั้ง ก่อนที่จะนำเสนอขออนุมัติสภาฯ เพื่อลดงบประมาณรายจ่ายลง ให้สอดคล้องกับรายรับที่จัดเก็บได้จริงในปีงบประมาณ 2563 และคาดว่าจะจัดเก็บได้ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับ ทต.บ้านกลาง มีภาระค่าใช้จ่ายประจำค่อนข้างสูง

 

จากภาระงานที่คลอบคลุมในทุก ๆ ด้าน จึงส่งผลให้โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2561-2565) ของ ทต.บ้านกลาง จำเป็นต้องงด หรือชะลอออกไปก่อน เพื่อประคับประคองลดรายจ่ายที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนลง 

นายอภิชาติ เปิดเผยต่ออีกว่า ด้าน อปท. หลายแห่ง มีรายได้หลักจากการจัดเก็บภาษีได้เองเป็นส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยเฉพาะ อปท.ที่อยู่ในเขตเมือง และเขตพื้นที่ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรายได้ที่จัดเก็บได้เองในปีงบประมาณ 2563 ลดลงกว่า ร้อยละ 90 ส่งผลให้เสถียรภาพการคลังของ อปท.หลายแห่งลดลงไปด้วย

จากตารางเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้ของ อปท. ประจำปีงบประมาณ 2562 ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ จะเห็นได้ว่า ทต.บ้านกลาง มีรายได้รวม 157.84 ล้านบาท โดยแยกเป็นรายรับจากการจัดเก็บเอง 65.22 ล้านบาท รัฐบาลจัดสรร 42 ล้านบาท เงินอุดหนุน 50.62 ล้านบาท ดูแลประชากรในทะเบียนราษฎร์กว่า 11,000 คน และประชากรที่เข้ามาทำงานในพื้นที่อีกกว่า 40,000 คน

ในขณะที่เทศบาลอื่น ๆ ที่มีประชากรในทะเบียนราษฎร์ใกล้เคียงกัน มีรายรับจากการจัดเก็บเองได้น้อยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะใช้งบประมาณรายจ่าย จากรายได้ที่รัฐจัดสรรให้ และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล แทบจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ หรือส่งผลกระทบน้อย ต่อการพัฒนาตำบล และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งตรงกันข้ามกับ ทต.บ้านกลาง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เฉกเช่นกับเทศบาลหลายแห่งใน จ.เชียงใหม่ หรือเทศบาลขนาดใหญ่, เทศบาลนคร เป็นต้น
ทั้งนี้ ทต.บ้านกลาง ได้จัดเตรียมแผนประเมินความเสี่ยงในการบริหารงบประมาณ ประจำปี 2564 ของ ทต.บ้านกลาง(แผน 5 ขั้น) หากเกิดกรณีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่ส่งผลให้รายรับ จากการจัดเก็บภาษีของเทศบาลลดลงไปอีก นอกเหนือจากที่ตั้งงบประมาณไว้ในเทศบัญญัติ เพื่อลดรายจ่ายของเทศบาลลงอีก 5–25% อาจมีผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในด้านต่าง ๆ โดยอาจต้องลดภาระงาน ที่ให้บริการประชาชนลง และนำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานจ้างในสังกัดของเทศบาลฯ ตลอดจนลดโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ ของประชาชนลงไปด้วย ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไร้วี่แววการแก้ไขปัญหา และการเยียวยาจากรัฐบาล ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอปท.ทั่วประเทศ นายอภิชาติ เปิดเผยในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น