จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุทะลุแสนล้าน หวั่นท้องถิ่นแบกรับ งบปี 64 ทุ่มกว่า 3 แสนล้าน ดูแลผู้สูงวัย หลังพบผู้สูงวัยมีอายุยืนขึ้น

ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า กรณีที่เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2563 กรมบัญชีกลาง ประกาศเลื่อนการโอนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการประจำเดือน ก.ย. นี้ ตามกำหนดเดิมภายในวันที่ 10 ก.ย. ออก
ไปก่อน

“ผู้ที่เคยได้รับเบี้ยผู้สูงอายุทั้ง อปท. นำไปแจกจ่าย หรือโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิรับเงินจนเกิดกระแสข่าวว่างบประมาณไม่เพียงพอ หรือรัฐบาลถังแตก นั้น เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะล่าสุดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย แจ้งเหตุผลการเลื่อนการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการของ อปท. ประจำเดือน ก.ย. 2563 ออกไป เนื่องจากการจัดทำงบประมาณปี 2563 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณฯ ให้ สถ. ต่ำกว่าที่ขอรับการจัดสรรไป ส่งผลให้เดือน ก.ย. นี้ ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายปีของงบประมาณ เงินขาดไปกว่า 2 พันล้านบาท ทางกรมบัญชีกลาง จึงแจ้งให้ สถ.ทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม”

ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) มีการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากรายการอื่น มาจ่ายเป็นเงินเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุแล้ว เร่งรัดจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 ก.ย. 2563 นี้

“จากการสอบถามผู้บริหารท้องถิ่นในเชียงใหม่ ต่างยอมรับว่า กังวลกับงบส่วนนี้ที่เพิ่มทวีคูณ จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเด็กเกิดน้อยลง ผู้คนแต่งงานช้าด้วย ดังนั้นผู้สูวัยส่วนมาก จึงพึ่งพาเงินส่วนนี้ จะมีบริจาค ไม่ประสงค์รับตามที่กรมกิจการผู้สูงอายุ รณรงค์บ้าง แต่น้อยมาก ซึ่งสิทธิส่วนนี้จะหายไปเมื่อเสียชีวิต”

 

กรมกิจการผู้สูงอายุ รายงานว่า สถิติผู้สูงอายุในไทย ล่าสุด (31 ธ.ค. 2562) ประชากรทั้งประเทศ 66.5 ล้านคน จำนวนประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11,136,059 คน แยกเป็นชาย 4.9 ล้านคน หญิง 6.2 ล้านคน ภาคเหนือ 2.2 ล้าน
คนเฉพาะเชียงใหม่ 333,692 คน แยกเป็นชาย 149,919 คน หญิง 183,773 คน เป็นลำดับที่ 50 ของไทย โดยกรุงเทพฯ มากสุด 1,063,871 คน

รายงานการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง เพราะสังคมไทย ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบสถิติปี 2560 จำนวนผู้สูงอายุ (ข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร) รวม 8.1 ล้านคน วงเงินกว่า 64,783 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 8.3 ล้านคน วงเงินประมาณ 66,407 ล้านบาท ปี 2562 ผู้สูงอายุจำนวน 9 ล้านคน ใช้จ่ายงบไปราว ๆ 71,911 ล้านบาท และปีนี้ จำนวนผู้สูงอายุพุ่งถึง 12.1 ล้านคน คาดว่าจะต้องใช้งบเพื่อจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก “ตั้งแต่ช่วงปี 2555-2562 พบรายจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุประมาณ 500,334 ล้านบาท เฉลี่ยรายรับต่อคนต่อเดือน ประมาณ 645-658 บาท”

 

ข้อมูลสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีกว่า 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20
ของประชากร และในปี 2583 ประเทศไทย จะมีผู้สูงวัย 20 ล้านคน และอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป จะมีถึง 3.5 ล้านคน

นักวิชาการด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่าแม้ว่า “ข้อมูลมอนิเตอร์ประเทศไทย ประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปมี 12,133,978 คน ปีนี้เสียชีวิตไปแล้ว 305,891 คน โดยกลุ่มวัย 65 ปีขึ้นไปมากสุด 2.7 แสนคน ก็ยังถือว่าไม่มาก ประกอบกับวิทยาการทางการแพทย์ ทันสมัย ผู้คนอายุยืนยิ่งขึ้น ลองวาดภาพอีก 1-2 ปี มีผู้สูงวัยในไทย 20 กว่าล้านคน กับงบที่ต้องจ่ายเป็นเบี้ยผู้สูงอายุ คงเป็นเม็ดเงินที่รัฐฯ ต้องบริหารจัดการมหาศาล ไม่นับรวมเบี้ยผู้ชรา เบี้ยสงเคราะห์อื่น ๆ อีก”

ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติได้ให้คำนิยามของสังคมผู้สูงวัย 3 ระดับ คือ ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 7.2% สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนนี้อยู่แล้ว และในคำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยตั้งงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.3 ล้านล้านบาท ในยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) งบประมาณทั้งสิ้น 319,232.8 ล้านบาท จะแบ่งจัดสรรให้อปท.สนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน เบี้ยยังชีพคนพิการไม่น้อยกว่า 1,980,000 คน ด้วยซึ่งประเมินตัวเลขว่าทะลุแสนล้านบาทไปแล้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น