จังหวัดเชียงใหม่ จับมือ เกษตรกรเจ้าของแปลง young smart farmer และผู้สนใจทำเกษตรอินทรีย์ในภาคเหนือ พัฒนาหัวขบวนเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS สู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

วันนี้ 14 ก.ย. 63 ที่ ห้องประชุมแม่ริม อาคารอำนวยการและบริหารกลาง มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่วิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม พัฒนาหัวขบวนเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดเชียงใหม่สู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยเกษตรกรเจ้าของแปลง young smart farmer ผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ผู้สนใจทำเกษตรอินทรีย์ จากจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และจังหวัดพะเยา กว่า 180 คน เข้าร่วมงาน

การจัดงานครั้งนี้ เป็นการผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการผลผลิตพืชอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในจังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ โดยใช้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ มีกระบวนงานด้านการตรวจรับรองแปลงตามมาตรฐาน IFOAM (International Federation of Organic Agriculture) โดยใช้นวัตกรรม ทั้งด้านเทคโนโลยี โปรแกรมแอพพลิเคชั่นในการส่งลิงค์จุดตรวจในแปลงเกษตรทุกๆแปลง ซึ่งจะเป็นสื่อสำคัญที่ผู้บริโภคสามารถทวนสอบ ย้อนกลับ เพื่อดูกระบวนงานภายในแปลงได้ ผ่านคิวอาร์โค้ดประจำตัวของเกษตรกรทุกราย สำหรับการดำเนินงานของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรผู้ตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ครั้งที่ 1 ในเดือนกันยายน 2562 และได้ดำเนินการตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น 133 แปลง บนพื้นที่ร่วม 1,467 ไร่ ผ่านการพิจารณาเป็นแปลงอินทรีย์จำนวน 17 แปลง เป็นแปลงอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน 41 แปลง และอีก 75 แปลง อยู่ระหว่างการรอการส่งเสริมและพัฒนา

นอกจากนี้ยังมีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ และการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กับ สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนเชียงใหม่ โดยหน่วยงานทั้งสามนี้จะได้ทำข้อบันทึกตกลงความร่วมมือทางวิชาการ และการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาด้านการเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน และเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์ชีพด้านการเกษตร และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรสู่เครือข่ายเกษตรกรในสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนเชียงใหม่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เกษตรอินทรีย์ ถือเป็นแนวทางสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของวัตถุดิบ และอาหาร ซึ่งเริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดการผลิต การเก็บเกี่ยว การขนส่งจากต้นน้ำ ก่อนจะส่งถึงมือผู้บริโภค หรือ ผู้ประกอบการเพื่อต่อยอดแปรรูป เกิดวัตถุดิบ และอาหารปลอดภัย ปลอดสารเคมี เสริมสร้างสุขภาพดีต่อประชาชน ตลอดจนการเกษตรแบบอินทรีย์ยังอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย การขับเคลื่อนด้านการดำเนินงานเกษตรอินทรีย์ ทั้งองค์ความรู้ในการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ การเชื่อมโยงผลผลิตสู่การตลาด การพัฒนาคุณภาพผลผลิตและสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนการให้การรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นปัจจัยและแนวทางอันสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น