ปศุสัตว์ จ.ลำปาง เผยโรคไวรัส PRRS (เพิร์ส) ที่ระบาดในสุกรไม่ติดต่อสู่คน

นายศร ธีปฏิมากร ปศุสัตว์ จ.ลำปาง เปิดเผยว่า ขณะนี้พบการระบาดของโรคระบาด ชนิดไวรัส PRRS (เพิร์ส) ซึ่ง เป็นโรคในระบบสืบพันธุ์และโรคในระบบทางเดินหายใจของสุกร ในพื้นที่ อ.แม่ทะ และ อ.ห้างฉัตร ซึ่งทางสำนักงานปศุสัตว์ได้กำจัดซากสุกรที่ล้มตายลง มีการกำจัดฝังซากอย่างถูกวิธีในพื้นที่ และไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายออกไป

ขณะนี้ทางปศุสัตว์สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ส่วนสาเหตุหลัก ๆ นั้นทราบมาว่า โรคระบาดนั้นเกิดมาจากรถที่เคลื่อนย้ายหมู จากรถรับซื้อหมูในเขตพื้นที่ ที่เดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ จนเกิดโรคระบาดดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีการทำละลายหมูในเขตพื้นที่ที่มีโรคระบาดไปแล้ว รัศมี 1 กิโลเมตร ส่วนการบริโภคเนื้อสุกรชำแหละ ขอให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และซื้อเนื้อหมูตามร้านจำหน่ายที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อนำไปบริโภค

ทั้งนี้ สำนักงานปศุสัตว์ จ.ลำปาง ได้ประกาศแจ้งเตือนไปยังทุกพื้นที่ ทั้ง 13 อำเภอ ประกาศให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และชาวบ้านได้เฝ้าระวังสุกรที่เลี้ยง หากพบสุกรป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการผิดปกติ และเกิดตายลง ให้รีบแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่ทราบทันที เพื่อจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ และควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ โรค PRRS ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ พบได้ในสัตว์จำพวกสุกร ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมีกีบคู่ ทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันถึงการติดเชื้อในสัตว์ชนิดอื่น รวมทั้งไม่ติดต่อสู่คน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Arteriviridae แบ่งออกเป็น 2 จีโนไทป์ ได้แก่ ไทป์ 1 กลุ่มสายพันธุ์ยุโรป และไทป์ 2 กลุ่มสายพันธุ์อเมริกา ต่อมาปี 2549 พบการระบาดของไวรัสไทป์ 2 สายพันธุ์รุนแรงในจีนและประเทศในแถบอาเซียน

สำหรับการติดต่อของเชื้อผ่านทางรก ทางน้ำนม หรือจากการสัมผัสโดยตรงกับสุกรที่ติดเชื้อ ผ่านทางอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเชื้อ สิ่งคัดหลั่ง หรือแม้แต่การรับเชื้อทางอากาศ ทำให้เกิดการติดเชื้อวนเวียนในฝูงสุกร นอกจากนี้ ยังพบการติดต่อผ่านทางสัตว์พาหะ เช่น ยุง อาการและความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาล ระบบการหมุนเวียนอากาศ และสุขภาพของสุกรในฝูง โดยสุกรตัวเต็มวัยอาจคลอดก่อนกำหนด แท้งในระยะท้ายของการตั้งท้อง ลูกที่คลอดอ่อนแอ อัตราลูกตายแรกคลอดสูง ส่วนสุกรเล็กมักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แคระแกร็น โตช้า และพบโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย เป็นโรคที่ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เมื่อพบอาการต้องสงสัยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อเก็บตัวอย่างไปตรวจยืนยันโรค

ร่วมแสดงความคิดเห็น