ทม.แม่เหียะ สืบสานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ เชิญชวนทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 69 รูป

เทศบาลเมืองแม่เหียะ ร่วมกับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ คณะสงฆ์ตำบลแม่เหียะ สภาวัฒนธรรมตำบลแม่เหียะ
ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรเครือข่ายชุมชน สืบสานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม
ประเพณีไทย ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่


นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองแม่เหียะได้ร่วมกับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ คณะสงฆ์ตำบลแม่เหียะ สภาวัฒนธรรมตำบลแม่เหียะ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรเครือข่ายชุมชน
เชิญประชาชนร่วมสืบสานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ ครั้งที่ 9 แด่รพระสงฆ์ จำนวน 69 รูป ในวันเสาร์ ที่ 3 ตุลาคม 2563 เวลา 06.30 น. เป็นต้นไป ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยที่ดีงาม และร่วมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง อีกทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเทศบาลเมืองแม่เหียะ และจังหวัดเชียงใหม่

วันตักบาตรเทโวโหณะ หมายถึง การทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชน เชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จขึ้นไป
จำพรรษาและเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา ประเพณีการตักบาตรเทโวนี้ เกิดจากการเลื่อมใสศรัทธา
ในพระพุทธศาสนา เพื่อบำเพ็ญบุญกุศล เช่น การถวายทาน รักษาศีล เป็นต้น

เทโว หมายถึง การเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า เป็นเหตุการณ์ตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้า คือในพรรษาที่ 7 ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนเทวโลกคือบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ครั้นออกพรรษา
แล้วก็เสด็จลงจากเทวโลกในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตำนานเล่าว่า พระอินทร์ทรงนิมิตบันได 3 อย่างถวาย คือ
บันไดทอง บันไดแก้วมณี บันไดเงิน หัวบันไดพาดอยู่ที่ยอดเขาสิเนรุ เชิงบันไดอยู่ที่ประตูเมือง สังกัสสะนคร
เวลาเสด็จลงทรงใช้บันไดแก้วมณี เหล่าเทวดาลงทางบันไดทอง เหล่ามหาพรหมลงทางบันไดเงิน เรียกการเสด็จครั้งนั้นว่า เทโวโรหณะ

ทั้งนี้เทศบาลเมืองแม่เหียะได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2555 โดยใช้สถานที่ บริเวณหอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นสถานที่จัดงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และหวังว่าจะได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชน
ในจังหวัดเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานบุญครั้งนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น