(มีคลิป) จ.น่าน หมูตาย เกิดการแพร่ระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส ปศุสัตว์จังหวัดน่าน ยืนยันไม่ติดต่อคน

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 เวลา 14.00 น. นายสัตวแพทย์อนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า เนื่องด้วยขณะนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS: Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) ในสุกร ในหลายหมู่บ้านของตำบลยม ตำบลผาตอ ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา และตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน ทำให้สุกรป่วยตาย เป็นจำนวนมาก ซึ่งสุกรที่ป่วยจะแสดงอาการซึม มีไข้ ไม่กินอาหาร แท้ง โดยที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน ได้ดำเนินการควบคุมโรคและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการป้องกันโรค จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เฝ้าระวังและป้องกันโรค โดยจัดให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น ฟาร์มต้องมีรั้วรอบขอบชิด ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในบริเวณฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถขนส่งสุกร รถขนส่งอาหารสัตว์ หรือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรฟาร์มอื่น มีการแยกใช้อุปกรณ์ภายในฟาร์มโดยเฉพาะ จัดให้มีอ่างจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อโรค  ทำการพ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหนะ อุปกรณ์ต่าง ๆ และโรงเรือนเป็นประจำ หากพบสุกรป่วยด้วยอาการข้างต้น ให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอทันที

นายสัตวแพทย์อนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดน่าน กล่าวยืนยันว่า โรค PRRS ระบาดในหมู หลายหมู่บ้านของตำบลยม ตำบลผาตอ ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา และตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน และใกล้เคียง ไม่ติดต่อคน เกิดจากไวรัสไม่มียารักษา จึงต้องทำลายหมูในพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ยันเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการติดตามการชำแหละ-จำหน่ายเนื้อหมูอย่างเข้มงวด

ซี่งโดยก่อนหน้านั้น นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค PRRS นั้นทำให้ต้องทำลายสุกรในรัศมีที่กำหนดจากจุดเกิดโรค เพื่อลดปริมาณสุกร ซึ่งจะลดความเสี่ยงที่จะเสียหายจากการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ โรค PRRS ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ พบได้ในสัตว์จำพวกสุกร ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมีกีบคู่ ทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันถึงการติดเชื้อในสัตว์ชนิดอื่น รวมทั้งไม่ติดต่อสู่คน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Arteriviridae แบ่งออกเป็น 2 จีโนไทป์ ได้แก่ ไทป์ 1 กลุ่มสายพันธุ์ยุโรป และไทป์ 2 กลุ่มสายพันธุ์อเมริกา ต่อมาปี 2549 พบการระบาดของไวรัสไทป์ 2 สายพันธุ์รุนแรงในจีนและประเทศในแถบอาเซียน

สำหรับการติดต่อของเชื้อผ่านทางรก ทางน้ำนม หรือจากการสัมผัสโดยตรงกับสุกรที่ติดเชื้อ ผ่านทางอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเชื้อ สิ่งคัดหลั่ง หรือแม้แต่การรับเชื้อทางอากาศ ทำให้เกิดการติดเชื้อวนเวียนในฝูงสุกร นอกจากนี้ ยังพบการติดต่อผ่านทางสัตว์พาหะ เช่น ยุง อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาล ระบบการหมุนเวียนอากาศ และสุขภาพของสุกรในฝูง โดยสุกรตัวเต็มวัยอาจคลอดก่อนกำหนด แท้งในระยะท้ายของการตั้งท้อง ลูกที่คลอดอ่อนแอ อัตราลูกตายแรกคลอดสูง ส่วนสุกรเล็กมักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แคระแกร็น โตช้า และพบโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย เป็นโรคที่ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เมื่อพบอาการต้องสงสัยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อเก็บตัวอย่างไปตรวจยืนยันโรค ที่สำคัญ เกษตรกรต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการฟาร์ม ไม่ควรให้รถรับซื้อสุกรทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่มีสุกรจากฟาร์มอื่นอยู่บนรถ เข้ามาในบริเวณฟาร์ม และไม่ควรให้พนักงานของฟาร์มเข้าไปสัมผัสกับรถรับซื้อสุกรนั้น เพราะรถดังกล่าวอาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากการขนส่งสุกรป่วยครั้งก่อน หากนำสุกรมาใหม่ต้องแยกกักจนแน่ใจว่าไม่ป่วยเป็นโรค PRRS หากพบสุกรป่วยหรือตายด้วยโรค PRRS ให้ทำลายสุกรป่วยด้วยการฝังหรือเผาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายสุกรป่วยออกจากฟาร์ม ส่วนสุกรที่เหลือในฟาร์ม อนุญาตให้เคลื่อนย้ายไปโรงฆ่าสัตว์เท่านั้น

ขณะนี้กรมปศุสัตว์ใช้มาตรการลดความเสี่ยงตามแนวทางป้องกันโรคระบาดในสุกรที่เป็นวาระแห่งชาติ หากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบสุกรเป็นโรค PRRS ให้ทําลายสุกรที่ป่วยหนัก หรือสุกรที่พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งการแพร่กระจายของโรคต่อไป โดยมีค่าชดใช้ในการทำลายร้อยละ 75  ของราคาสุกรเพื่อลดความเสียหาย ป้องกันไม่ให้โรคระบาดเป็นวงกว้าง

ขณะเดียวกัน นายวรพล รุ่งสิทธิมงคล หัวหน้าด่านกักกันสัตว์น่าน กล่าวว่า ทางด่านกักกันสัตว์น่าน ยังได้ปฏิบัติงานด่านบูรณาการจุดตรวจห้วยน้ำอุ่นร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นปพ.ภจว.น่าน ตรวจสอบสินค้าปศุสัตว์และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรถบรรทุกสัตว์-ซากสัตว์ เข้า-ออก ในพื้นที่จังหวัดน่าน รวมทั้งเพิ่มการเฝ้าระวังโดยการตั้งจุดตรวจควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรถบรรทุกเข้า-ออก ณ ร้านค้าชุมชนบ้านผาขวาง ตำบลปอ อำเภอเมืองน่าน ซึ่งเป็นจุดรอยต่อระหว่างอำเภอเมืองและอำเภอท่าวังผา พร้อมทั้งจัดชุดลาดตระเวนตรวจการเคลื่อนย้ายและหาข่าวในพื้นที่ระหว่างอำเภอเมือง อำเภอท่าวังผา และอำเภอปัว

ทั้งนี้ หากพบการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกรและซากสุกรโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่เกิดโรค ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่หรือแจ้งปศุสัตว์อำเภอ เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดกฎหมาย พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ต่อไป

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น