น่าน นายกเทศบาลเมืองน่าน สร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็ก และเยาวชน จาก “ขยะกระทง” สู่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่ไม่ธรรมดา

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.63 ที่บริเวณลานรวมใจ ริมแม่นำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองน่าน คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน บ้านสวนตาล ต่างช่วยกันเก็บ “ขยะกระทง” ที่ลอยเกลื่อนเต็มแม่น้ำน่าน ในประเพณีลอยกระทงประจำปี 2563 นำมาคัดแยกเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ หนึ่งในกระบวนการสร้างการเรียนรู้ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน ได้ช่วยกันจัดเก็บขยะกระทง ที่ลอยเกลื่อนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่าน เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง

นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน เผยว่า ทุกปีหลังเสร็จสิ้นการลอยกระทง พบว่าเกิด “ขยะกระทง” เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณแม่นำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ วัสดุส่วนใหญ่ที่ประชาชนนิยมนำมาประดิษฐ์เป็นกระทงได้แก่ ต้นกล้วย ใบตอง ดอกไม้ ก้านกล้วย แม้ว่าประชาชนจะหันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถนำขยะกระทงที่จะต้องเก็บไปทิ้งยังบ่อฝังกลบขยะของเทศบาลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม จากการได้มีโอกาสหารือกับ นายธนากร สุภาษา ประธานกรรมการบริหารของ บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด เป็นหนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้จริง อาทิ ผลิตกระดาษสา กระดาษกล้วย เป็นต้น ภายใต้แบรนด์ “ปาป้า เปเปอร์” ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้มีแนวทางบูรณาการความร่วมมือกับเทศบาลเมืองน่าน ที่จะนำต้นกล้วยสำหรับประดิษฐ์กระทง เข้าสู่กระบวนการเพื่อนำไปผลิตเป็นกระดาษจากใยกล้วย เพื่อนำไปต่อยอดทำเป็น กล่องกระดาษใยกล้วย หรือผลิตภัณฑ์รักษ์โลกอื่น ๆ

สำหรับเส้นทางกว่าจะมาเป็นกระดาษใยกล้วยรักษ์โลกนั้น เมื่อคืนวันลอยกระทงที่ผ่านมาเทศบาลเมืองน่านจัดพื้นที่สำหรับลอยกระทงประจำปี พ.ศ.2563 ให้ประชาชนตามจุดต่าง ๆ ได้ร่วมลอยกระทง เพื่อร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามแบบวิถีใหม่ (New Normal) รุ่งเช้าเจ้าหน้าที่ต่างช่วยกันเก็บขยะกระทงเพื่อไปคัดแยก เด็กนักเรียนจากโรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน บ้านสวนตาล เรียนรู้การคัดแยกขยะกระทง ณ ลานรวมใจ ริมแม่น้ำน่าน แยกเทียนเพื่อนำไปหลอมเป็นเทียนได้ใหม่ ดอกไม้ใบตองสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ตะปูในกระทงสามารถนำไปใช้ซ้ำได้ จากนั้นนำรถบรรทุกหยวกกล้วยไปยังศูนย์เรียนรู้ 3R พาพอเพียง โรงเรียนดรุณวิทยาฯ เข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพจาก “หยวกกล้วย” ให้กลายเป็นกระดาษกล้วยเพื่อสร้างมูลค่า และผลิตเป็น “ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก” อาทิ กล่องใส่ของขวัญ ของที่ระลึก กล่องใส่อุปกรณ์การเรียน บอร์ดนิทรรศการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น