กรมอนามัย เตือนประชาชนพื้นที่พายุผ่าน หวั่นเกิดฝนฟ้าคะนอง แนะ เลี่ยงอยู่พื้นที่โล่งแจ้ง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบกับพายุผ่าน หวั่นเกิดฝนฟ้าคะนอง แนะนำให้หลีกเลี่ยงอยู่ในบริเวณพื้นที่โล่งแจ้ง และงดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสื่อเหนี่ยวนำไฟฟ้า ในช่วงฝนตกหนักเสี่ยงฟ้าผ่าได้ เพื่อความปลอดภัย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าในช่วงวันที่ 5 – 7 พฤศจิกายนนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อาจได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “โคนี” ที่ส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนองใน บางพื้นที่ได้ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจึงต้องรู้จักป้องกันตนเอง โดยขณะเกิดฝนฟ้าคะนองให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง เช่น ทุ่งนาสนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ หากเลี่ยงไม่ได้ต้องไม่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า และควรถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย ถ้าหากหลบอยู่ในรถยนต์ ให้จอดรถห่างจากต้นไม้ใหญ่ ตึกสูง เสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ดับเครื่องยนต์ ปิดกระจก และอย่าสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของรถที่เป็นโครงโลหะ เมื่ออยู่ในอาคาร ควรปิดประตูหน้าต่างทุกบาน และอยู่ห่างจาก ผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด ซึ่งจากข้อมูลผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่าของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิต 76 ราย 62 ราย และ 57 ราย ตามลำดับ

​“ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้ที่ถูกฟ้าผ่า ให้สังเกตบริเวณที่เกิดเหตุว่ายังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามีให้เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย โดยสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ซึ่งต่างจากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าซ็อต หลังจากนั้นรีบโทรแจ้งเหตุสายด่วนช่วยชีวิต 1669 พร้อมให้ข้อมูลสถานที่เกิดเหตุและอาการของผู้ป่วย เพื่อนำผู้ที่ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยในระหว่างรอรถฉุกเฉินมารับผู้ป่วย ให้สังเกตอาการ หากพบว่าริมฝีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมาก หรือไม่เคลื่อนไหวเลย ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ให้รีบปฐมพยาบาลโดยใช้การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน หรือซีพีอาร์ (CPR) คือ ผายปอดด้วยการให้ลมทางปากหรือที่เรียกว่า การเป่าปาก ร่วมกับการนวดหัวใจ หรือหากในบริเวณนั้นมีเครื่องช่วยชีวิตฉุกเฉิน (AED) ก็สามารถใช้เพื่อช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันที” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น