เชียงรายจัดเวทีเสวนาสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมกับสื่อมวลชนในการเลือกตั้งท้องถิ่น เน้นย้ำ! ไม่มีเลือกล่วงหน้า/นอกเขต ไม่ไปเลือกตั้งโดนตัดสิทธิ์ 2 ปี

เวลา 10.00 น. วันที่ 6 พ.ย 63 นายเทอดเกียรติ สุกใส ปลัด อบจ.เชียงราย ในฐานะ ผอ.การเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ร่วมกับนายสุคนธ์ เรือนสอน ผอ.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงราย นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานเครือข่าย MOC บิสคลับประเทศไทย จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายภาณุฉัตร สวัสดิชัย ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมการจัดการความรู้สื่อสารประชาสัมพันธ์ “สื่อกับการเลือกตั้งท้องถิ่น (อบจ.)” ที่ห้องวิชัยรัตน์ สำนักงานทางหลวงเชียงรายที่ 1 ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการจัดการเลือกตั้งแก่สื่อมวลชน ขยายช่องทางนำองค์ความรู้และข้อมูลไปสู่สื่อสารกับประชาชนได้อย่างถูกต้อง

นายภาณุฉัตร สวัสดิชัย ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563นี้ จะเป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย การจัดกิจกรรมในครั้งจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเวทีให้ผู้จัดการเลือกตั้งได้สร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชนในจังหวัดเชียงราย ให้ได้รับทราบข้อมูลและกระบวนการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ มีพื้นที่รับผิดชอบทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย และมีเขตเลือกตั้งครอบคลุมครบทั้งจังหวัด ซึ่งมีกฎหมายและหลักปฏิบัติสำหรับสื่อมวลชนที่ต้องรับรู้รับ  รับทราบและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รวมทั้ง การเตรียมตัวภายใต้มาตรการคัดกรองด้านสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสื่อข่าวให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจอย่างถูกต้อง สามารถใช้สิทธิในการลงคะแนนได้อย่างมีคุณภาพ เกิดความตื่นตัวในการมีส่วนร่วม ขจัดการทุจริตในทุกรูปแบบ และเป็นไปอย่างโปร่งใส อันจะส่งผลให้การเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิ์อย่างเต็มที่

ด้านนายสุคนธ์ เรือนสอน ผอ.กกต.เชียงราย เผยว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้มีกฏระเบียบ ที่ออกมาควบคุมให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจำนวนหลายข้อ และมีสิ่งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมไปถึงผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งควรจะรู้ เช่น ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งค่าใช้จ่ายทีมงาน ค่าป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ และอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการหาเสียง ไม่เกินคนละ 6 ล้านบาท ส่วนผู้สมัครสมาชิก อบจ. ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 3.5 แสนบาท งดการบริจาคใส่ซองบุญไดๆในช่วงการหาเสียงเด็ดขาด พรรคการเมืองส่งคนเข้าชิงเก้าอี้นายก อบจ.ได้ แต่ห้ามข้าราชการ นักการเมืองทุกระดับชั้น รวมถึงผู้ช่วย ส.ส. ช่วยในการหาเสียงเลือกตั้งทุกกรณี

“ในส่วนของผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็มีข้อพึงระวังสำคัญคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้จะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกเขต ทุกคนจะต้องไปเลือกตั้งในวันที่ 20 ธ.ค.ทั้งหมด คนที่ไม่ไปใช้สิทธิ์จะถือว่าเสียสิทธิ์ ทั้งการสมัครรับเลือกเป็น ผญบ. กำนัน หรือตำแหน่งการเมืองอื่นๆ เป็นระยะเวลาถึง 2 ปี หากในช่วงต้นปีหน้ามีการเลือกตั้งเทศบาลและ อบต. เราไม่ไปเลือกตั้งอีกครั้งก็จะโดนตัดสิทธิ์อีก 2 ปี โดยที่สิทธิ์ที่โดนตัดจากการเลือกตั้ง อบจ.ก็จะยังคงอยู่ ซึ่งเป็นกฏระเบียบที่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา และเรื่องสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ผู้ใช้สิทธิ์ควรรู้คือ ระยะเวลาในการอาศัยในพื้นที่ก่อนการเลือกตั้งต้องไม่ต่ำกว่า 1 ปี เช่น นาย ก. ย้ายทะเบียนมาจาก จ.พะเยา มาอยู่ อ.เมืองเชียงราย 1 ปีขึ้นไปจะเลือกตั้งได้ทั้ง นายกและสมาชิก อบจ. แต่กรณีย้ายมาไม่ถึง 1 ปี ต้องกลับไปใช้สิทธิ์ที่ จ.พะเยา ตามภูมิลำเนาเดิม มีอีกกรณีคือภายใน 1 ปี ย้ายจากจังหวัดอื่นเข้ามาอยู่ จ.เชียงราย แต่อยู่อาศัยอยู่หลายอำเภอ เช่น อยู่ อ.เวียงแก่น 3 เดือน และย้ายไปอยู่ อ.เมืองเชียงราย 9 เดือน ในกรณีนี้ถือว่าย้ายมาอยู่ในแต่ละพื้นที่ไม่ครบ 1 ปี แต่รวมระยะเวลาการอยู่ในจังหวัดครบระยะเวลา 1 ปี แต่กรณีนี้ผู้เลือกตั้งจะมีสิทธิ์เลือกได้แค่ นายก อบจ. ไม่มีสิทธิ์เลือกสมาชิก อบจ. ซึ่งถือเป็นกฏที่ประชาชนทั่วไปควรรู้” ผอ.กกต.เชียงรายกล่าว

การเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ยังอยู่ในห้วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ไปใช้สิทธิ์ยังต้องเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย และหน่วยเลือกตั้งจะมีเจ้าหน้าที่คัดกรองก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง หากอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศา จะใหแยกไปเลือกที่หน่วยเลือกตั้งพิเศษ ซึ่งเป็นพื้นที่เฉพาะที่หน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่งทั้ง 2,024 หน่วยเลือกตั้งทั่วจังหวัดจะต้องจัดเตรียมไว้บริการสำหรับผู้มีอุณหภูมิสูงผิดปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น