คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับไทยไฟลท์เทรนนิ่ง เปิดหลักสูตรอุตสาหกรรมการบิน ป้อนบัณฑิตคุณภาพสู่ตลาด

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดพิธีประดับปีกการบิน แก่นักศึกษาสาขาการจัดการอุตสาหกรรมการบินและการบริการ โดยมี ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เป็นประธาน  และผศ.ดร.กานดา จันทร์แย้ม คณบดีคณะศิลปศาสตร์  กัปตัน ดร.ธนะพัฒน์ ศิริจารุอนันต์ ผู้จัดการฝ่ายปฎิบัติการ บริษัทไทยไพลท์เทรนนิ่ง จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหารของคณะศิลปศาสตร์ และบริษัทไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด ร่วมประดับปีกการบิน โดยมีนักศึกษาได้รับการประดับปีกจำนวน 82 คน ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

ผศ.ดร.กานดา จันทร์แย้ม คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หลักสูตรการจัดการอุตสาหกรรมการบินและการบริการ ถือเป็นหลักสูตรแรก และเป็นแห่งเดียวในภาคใต้ ที่ร่วมผลิตกับบริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็น บริษัทภายใต้กำกับของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยร่วมกันสร้างหลักสูตรในรูปแบบใหม่ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคการผลิต มุ่งสร้างบัณฑิตที่มีทักษะความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานจริง รุ่นแรกมี 82 คน ปีการศึกษาหน้าจะเพิ่มเป็น 90 คน หลักสูตรนี้ได้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการบินของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ จุดเด่นคือนักศึกษาจะได้ปฏิบัติในสถานที่จริง เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนีบัตรจำนวน 8 ใบ  ผ่านการรับรองจากสถาบันการบินพลเรือน (CAAT) และ บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด (บริษัทในกำกับของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพอุตสาหกรรมการบิน และพร้อมทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา พร้อมทั้งเน้นเพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษและภาษาจีน บัณฑิตต้องมีคะแนนการสอบโทอิค 600 คะแนนขึ้นไป กัปตัน ดร.ธนะพัฒน์ ศิริจารุอนันต์ ผู้จัดการฝ่ายปฎิบัติการ บจก.ไทยไพลท์เทรนนิ่ง จำกัด  กล่าวว่า เมื่อนักศึกษาเรียนที่คณะศิลปศาสตร์ 2 ปี แล้วจะเข้าฝึกปฏิบัติในศูนย์ฝึกของบริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันการบินพลเรือน เป็นเวลา 2 ปี

อุตสาหกรรมการบินมีการจ้างงานในการให้บริการมากกว่า 10 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3.4  ของ GDP ทั่วโลก จากข้อมูลปี พ.ศ.2562 มีผู้โดยสารเดินทาง 4.5 พันล้านคน จำนวน 100,000 เที่ยวบินต่อวัน  ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เริ่มขึ้น กระทบต่อธุรกิจการบิน และความสามารถในการทำกำไร ของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งส่งผลทำให้ความต้องการการเดินทางที่มีแนวโน้มที่ลดลง  การหมดยุคของเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่

ขณะนี้ ประมาณร้อยละ 64 จากจำนวนเครื่องบิน 26,000 ลำทั่วโลกที่ไม่ได้ใช้งาน  พนักงานในอุตสากรรมการบินต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องและเป็นรายจ่าย  จำนวนมหาศาลถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำการบิน อันส่งผลอย่างรุนแรงทางลบต่อรายได้ ของสายการบินต่างๆ เนื่องจากธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูง การแข่งขันรุนแรง ดังนั้นผู้ปฎิบัติที่พร้อมปฎิบัติงาน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้กับสายการบินหรือหน่วยงานได้เป็นอย่างดี

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เมื่อนักศึกษาจบหลักสูตร ก็จะเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว นักศึกษาที่จบออกไปก็จะเป็นอนาคตของประเทศ ขอชื่นชมนักศึกษา และขอบคุณผู้ปกครอบที่ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน ขอให้ผู้ปกครองมั่นใจ เนื่องจากหลักสูตรนี้เราได้ร่วมกับ บริษัทไทยไพลท์เทรนนิ่ง  ซึ่งมีมาตรฐานระดับโลก และนักศึกษาจะได้รับฝึกฝนด้านอุตสาหกรรมการบินพร้อมทั้งทักษะด้านภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาจีน ที่ใช้ทั่วโลก

ร่วมแสดงความคิดเห็น