กมธ.ชาติพันธุ์ฯ ลงพื้นที่ภูชี้ฟ้า รับฟังปัญหาชาวบ้าน ร่วมหาทางออก ทั้งที่ดินทำกิน

เวลา 14.00 น. วันที่ 8 พ.ย. 63 นางมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบภูชี้ฟ้า ณ หอประชุมบ้านร่มฟ้าไทย ม.24 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟังปัญหาเพื่อหาทางออกร่วมกัน อาทิ นายอเนก ปันทะยม ปลัดอาวุโสอำเภอเทิง นายสมเกียรติ ปูกา ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.15 นายสนิท หอมนาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า(เตรียมการ) พร้อมด้วยตัวแทนฝ่ายทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ร่วมสังเกตุการณ์และรับฟังปัญหา ในส่วนของชาวบ้านนำโดย นายทูลสวัสดิ์ ยอดมณีบรรพต และนายชัยยุทธ อนุสรณ์ศิลปะ แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมนำเสนอปัญหา มีชาวบ้านร่วมกิจกรรมประมาณ 150 คน

นางมุกดา พงษ์สมบัติ ประธาน กมธ.ฯ เผยว่า คณะ กมธ.ฯ สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางมาศึกษาดูงานด้านการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังปัญหา ความเดือดร้อน กลุ่มกลุ่มพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภูชี้ฟ้า อ.เทิง เพื่อหาแนวทางการดำเนินการเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา

นายทูลสวัสดิ์ ยอดมณีบรรพต แกนนำชาวบ้าน เล่าว่า พื้นที่ภูชี้ฟ้ามีชาวเขาอาศัยอยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่วนอุทยานมานานมาก อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วคน ในอดีตพื้นที่นี้มีปัญหาการเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เป็นธรรมหลายครั้งต่อปี จนเป็นชนวนเหตุแห่งความขัดแย้ง จนนำไปสู่การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านและทหาร ต่อมาชาวบ้านได้ล่าถอยเข้าป่าและไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยเคลื่อนไหนในฝั่งลาว และมาก่อตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ในปี พ.ศ.2510 ต่อสู้กับทหารมานานถึง 15 ปี จนเมื่อปีพ.ศ. 2525 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนดอยพญาพิภักดิ์ และพรรคคอมมิวนิสต์ได้ประกาศวางอาวุธ เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) โดยมีพันธสัญญาจากนโยบาย 66/23 ที่รัฐบาลสมัยนั้นรับปากว่าจะมอบที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 1 ไร่ และที่ทำกินอีกครัวเรือนละ 15 ไร่ ตลอดจนจะดูแลเรื่องสัญชาติให้กับชาวไทยภูเขาในพื้นที่ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยชาวบ้านกลับไม่ได้รับการแก้ปัญหาตามที่ทางรัฐบาลได้เคยรับปากไว้ ทั้งปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ปัญหาบุคคลไร้สัญชาติ และล่าสุดยังพบปัญหาว่าทางกรมป่าไม้ยังพยายามจะยกฐานะวนอุทยานภูชี้ฟ้าขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านจึงหวาดวิตกเกี่ยวกับพื้นที่อุทยานจะไปทับซ้อนกับที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และที่สำคัญคือพื้นที่ส่วนยอดภูชี้ฟ้าเป็นพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว มีอาณาเขตใกล้ชายแดนใกล้สุดไม่ถึง 200 เมตร ไกลสุดไม่เกิน 2 กม. เป็นพื้นที่ความมั่นคง จึงไม่เห็นด้วยที่จะประกาศเป็นเขตอุทยาน ด้วยเกรงจะเป็นชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งระดับประเทศในอนาคต

นายชัยยุทธ อนุสรณ์ศิลปะ ผญบ.พญาพิภักดิ์ อ.ขุนตาล เผยว่า ทางอุทยานดำเนินการยกฐานะโดยไม่ชอบ เพราะไม่ผ่านการทำประชาคมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน จึงพยายามยื่นหนังสือคัดค้านไปยังหลายๆหน่วยงาน ทั้งระดับอำเภอ และระดับจังหวัด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการยกฐานะอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้าได้มีข้อเรียกร้อง คือ ก่อนการประกาศอุทยานจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องแนวเขต ไม่ทับซ้อนกับพื้นที่ของชาวบ้านที่มีมาแต่เดิม ต้องการให้ทางรัฐบาลกันพื้นที่ป่าเพื่อทำเป็นป่าชุมชน และพื้นที่นอกเขตชุมชนและป่าชุมชนก็ให้ทางกรมป่าไม้ประกาศเป็นพื้นที่ของอุทยานต่อไป

ด้านนายสมเกียรติ ปูกา ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.15 กล่าวว่า ตนเป็นลูกหลานชาวเชียงราย รับทราบปัญหาในพื้นที่มาโดยตลอด ทางคณะทำงานอยากจะให้ทางชาวบ้านได้เข้าใจว่าการจะประกาศยกฐานะเป็นอุทยานจะต้องผ่านความเห็นชอบจากชาวบ้าน ตามมาตรา 8 ใน พรบ.อุทยานฯ หากมีชาวบ้านไม่เห็นด้วยก็ประกาศไม่ได้ แต่เดิมทางอุทยานมีพื้นที่ที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานทั้งหมด 286,869.54 ไร่ หลังจากมีการทักท้วงคัดค้านทางอุทยานก็มีการพิจารณาตัดพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ออกไปทั้งหมดจนเหลือ 58,069.24 ไร่ หากยังไม่สบายใจก็สามารถเดินสำรวจร่วมกันใหม่อีกครั้งได้

ในที่ประชุมตกลงที่จะเดินสำรวจแนวเขตร่วมกันเพื่อหาทางออกในเรื่องการยกฐานะอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า และจะมีการแจ้งผลการทำงานร่วมกันให้ทาง กมธ.รับทราบด้วย ส่วนปัญหาคนไร้สัญชาติ นายเอนก ปันทะยม ปลัดอาวุโสอำเภอเทิง เผยว่า ทางอำเภอได้ดำเนินการในเรื่องนี้มาตลอด คนไหนที่ไม่มีสัญชาติสามารถนำหลักฐานพยานมายื่นกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ ปัจจุบันในพื้นที่มีปัญหาคนไร้สัญชาติน้อยมาก จะมีที่เพิ่มเข้ามาก็เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของกฏระเบียบ เช่น มีมติ ครม.ผ่อนปรนให้เพิ่มสิทธิ์ให้บุคคลกลุ่มอื่นให้สามารถมายื่นขอสัญชาติได้ กรณีเช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติมีมากขึ้นได้เช่นกัน แต่ทางอำเภอก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามเร่งดำเนินการอย่างเต็มความสามารถอยู่แล้ว

ช่วงสุดท้ายของการประชุม นายทูลสวัสดิ์ ยอดมณีบรรพต และนายบุญชัย ชาญชัยพิทักษ์สิน ผญ.ร่มฟ้าไทย ได้เป็นตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือข้อเรียกร้องทั้งหมดให้กับประธาน กมธ.ฯ โดยทาง กมธ.ได้รับเรื่องทั้งหมดเพื่อไปกลั่นกรองก่อนนำเสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น