รมว.อว.บรรยายพิเศษ เสริมแนวคิดการพัฒนาจังหวัด สร้างสำนึกรักบ้านเกิด แก่เยาวชน จ.ลำปาง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายการพัฒนาจังหวัดลำปาง ในมิติการศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี” เสริมแนวคิดสร้างสำนึกรักบ้านเกิดแก่ผู้บริหารและเยาวชน เน้นย้ำการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนต้องดำเนินการควบคู่กัน ทั้งด้านอุตสาหกรรมและวัฒนธรรม
โดย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดินทางลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เป็นองค์ปาฐกถาบรรยายพิเศษเปิดเวทีเสวนา “บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดลำปาง ต่อการผลิตบัณฑิต เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงงาน หลัง COVID-19” ในหัวข้อเรื่อง “นโยบายการพัฒนาจังหวัดลำปาง ในมิติการศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี” เสริมความรู้มอบแนวคิดแก่ผู้บริหารหน่วยงานองค์กร และเยาวชนนักศึกษา

เกี่ยวกับการพัฒนาองค์ความรู้ที่จักต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจพัฒนาพื้นที่จังหวัดให้เกิดความยั่งยืน ณ ห้องประชุมอาคารนวัตกรรมบริการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร  โดยมี ว่าที่ พ.ต.อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นตัวแทนนำคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ คณาจารย์และเยาวชนนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในจังหวัดลำปาง ร่วมให้การต้อนรับ และร่วมรับฟังปาฐกถาบรรยายพิเศษ

โดยในการบรรยาย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวถึงหลักการแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมมักมีการดำเนินการพัฒนาแต่เพียงด้านเดียว เน้นหนักไปในการพัฒนาที่อิงอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่ต่อยอดความสำเร็จจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC, การพัฒนาระบบโทรคมนาคมไปสู่ยุค 5G และแม้แต่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต่างมีการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เน้นการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีความพยายามพัฒนาระบบเครื่องจักรให้มีความทันสมัย โดยการพัฒนาดังกล่าวแม้จะมีความจำเป็นแต่หากคิดถึงผลกำไร และความคุ้มค่าอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นการพัฒนาที่ต้องใช้การลงทุนมหาศาล

ซึ่งในส่วนนี้หากต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบก้าวกระโดด ใช้การลงทุนน้อยแต่ให้ผลกำไรมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ควบคู่กันไป สิ่งนั้นคือ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรม ด้วยการอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ ทั้งสถาปัตยกรรม โบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต รวมถึงศิลปหัตถกรรมต่างๆ ซึ่งจักต้องมีการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ อนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด และนำมารวบรวมสร้างเรื่องราวเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุนเดิมที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ แต่ทว่าสามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายสิบเท่า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนานวัตกรรมทางวัฒนธรรม ดังกล่าวนั้น จังหวัดลำปางถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพสูง สามารถที่จะดำเนินการขับเคลื่อนตามแนวทางดังกล่าวพัฒนาพื้นที่ ให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเฉพาะอย่างยิ่งกับชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งการพัฒนานวัตกรรมทางวัฒนธรรม สถาบันการศึกษายังสามารถที่จะนำแนวทางนี้ไปใช้ในการเรียนการสอนให้สอดรับกับบริบทในพื้นที่ ด้วยการสั่งสมสร้างสำนึกรักบ้านเกิดให้แก่เยาวชนนักศึกษา ซึ่งจะช่วยพัฒนาผู้เรียนของแต่ละสถาบันให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงงานในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ร่วมแสดงความคิดเห็น