ทม.น่าน รับการประกาศรับรอง (ซ้ำ) ชุมชนปลอดภัย ทม.น่าน

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.00 น. ที่อาคารพัฒนาบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานในการมอบโล่รางวัล “ตำบลปลอดภัยเข้มแข็ง ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน” ให้กับ เทศบาล/อบต. จำนวน 24 แห่ง จากทั่วประเทศ ซึ่งคัดเลือกจากเทศบาลและ อบต. ที่มีการจัดการชุมชนปลอดภัยและเข้มแข็ง ได้มาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉินเชิงพื้นที่ โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ผู้แทน ISCCC มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ แผ่นทองจารึกและธงเกียรติยศ ชุมชนปลอดภัยสากลแก่ นายสุรพล เธียรสูตร นายก ทม.น่าน ในโอกาสที่ ทม.น่าน ได้รับการประกาศรับรอง (ซ้ำ) ชุมชนปลอดภัย ทม.น่าน ลำดับที่ 316 สมาชิกชุมชนปลอดภัยระดับสากล จาก ศูนย์รับรองชุมชนปลอดภัยสากล International Safe Community Certifying Centre (ISCCC)Re-designation Muang Nan Safe Community ceremony at NIEMS, Nov 12,2020 นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังได้เป็นประธานในการมอบโล่ ตำบลปลอดภัยเข้มแข็งด้านการแพทย์ฉุกเฉิน นำร่อง 24 แห่ง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  จากสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมไปถึงการป้องกันภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากปัญหาด้านสุขภาพจิต การสูญเสียจากภาวะแทรกซ้อน ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นของการเกิดภาวะหลอดเลือดสมองเฉียบพลันและหัวใจขาดเลือด อุบัติเหตุ  ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจำนวนเทศบาล/อบต. ทั้งสิ้น 7,772 แห่ง การดำเนินการตำบลปลอดภัย เป็นประเด็นใหม่และเป็นประเด็นใหญ่ ที่เมื่อดำเนินการแล้ว จะสามารถแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัย ในประเทศไทยได้อย่างก้าวกระโดด ตนในฐานะประธานกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน จึงได้มอบให้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดทำโครงการส่งเสริมตำบลปลอดภัยเข้มแข็งด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกัน เฝ้าระวัง และเข้าถึงความรู้และการสื่อสารสาธารณะ ที่จะทำให้สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงภาวะฉุกเฉินได้

นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวว่าความเป็นมาของการดำเนินการเรื่องชุมชนปลอดภัย เริ่มจากความคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหา และการจัดการเรื่องความปลอดภัยในชุมชนของตนเอง ประกอบกับหน่วยงาน      ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เล็งเห็นความสำคัญเรื่องนี้ จึงเกิดกระบวนการดำเนินงานที่เป็นลำดับขั้นตอน โดยมีความร่วมมือของชุมชนเป็นพื้นฐาน เริ่มจากการสร้างความตระหนัก ทำให้คนในชุมชนมีจิตสำนึก ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติและการช่วยกันดูแล ป้องกันอันตรายต่าง ๆ ในชุมชนได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนมีสุขภาพดี ไม่ได้รับอันตรายจากปัญหาความไม่ปลอดภัยต่าง ๆ ประจวบเหมาะกับการที่ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้จัดทำโครงการเด็กไทยปลอดภัยขึ้น จึงได้ทำการคัดเลือกจังหวัดน่าน เป็นพื้นที่ดำเนินงาน พร้อมกับค้นหาพื้นที่ในการศึกษาเพื่อดำเนินการเรื่อง “ชุมชนปลอดภัย”มาอย่างต่อเนื่อง

เทศบาลเมืองน่านได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ได้ตระหนักถึงการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยความปลอดภัยในหลากหลายมิติ ทั้งนี้ ในการสร้างให้เกิดความปลอดภัยในชุมชนนั้น มีการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญหลักที่จะทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยแบบยั่งยืนนั้น เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกัน การทำงานนี้จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องและทำเป็นกระบวนการ ทั้งขั้นตอนของการเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย การดำเนินการขณะเกิดภัย และ การเยียวยาบำบัดฟื้นฟูหลังเกิดภัยอีกทั้งนำบทเรียนที่เกิดขึ้นไปวิเคราะห์  เพื่อนำไปสู่การสร้างมาตรการป้องกันภัยในชุมชน จนทำให้เทศบาลเมืองน่าน ได้รับการรับรองเป็นชุมชนปลอดภัยระดับนานาชาติ และเป็นต้นแบบพื้นที่ตำบลปลอดภัย สพฉ. ซึ่งความสำเร็จเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน ตลอดจนถึงภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่ได้ช่วยกันคิดค้นหาแนวทางสู่การขับเคลื่อน เพื่อความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า  สพฉ. ได้เริ่มดำเนินโครงการ “ตำบลปลอดภัย ประเทศไทยปลอดภัย ไร้ผู้ป่วยฉุกเฉิน” ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 3.1 ปี พ.ศ.2562-2565 โดยใช้ชุมชน สังคมในระดับตำบลเป็นฐานในการพัฒนา             เพื่อสร้างความปลอดภัยในตำบล และลดอัตราการเสียชีวิตและพิการจากภาวะฉุกเฉิน เพื่อพัฒนากลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทั้งในภาวะปกติและภัยพิบัติ ซึ่งจากผลการดำเนินงานตามโครงการ ได้ตำบล    ที่ผ่านเกณฑ์ ทั้งสิ้น จำนวน 24 ตำบล กระจายไปทั่วประเทศ โดยคณะกรรมการผู้ประเมินประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สำหรับเทศบาล/อบต. ที่ผ่านเกณฑ์  การประเมินและได้รับโล่รางวัล จำนวน 24 แห่ง มีดังนี้

ทต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน ทม.น่าน จ.น่าน ทต.กลางเวียง อ.เวียงสา จ.น่าน ทต.เวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน อบต.บ้านหนุน อ.สอง จ.แพร่ อบต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก อบต.วังทรายพูน อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร อบต.วังแขม อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร อบต.วิหารแดง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี อบต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ทต.ตลาดเกรียบ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ทน.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี อบต.บึงคอไห อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี อบต.วังใหม่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี อบต.บางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ อบต.คลองหินปูน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว อบต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ทต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย อบต.บ้านจารย์        อ.สังขะ จ.สุรินทร์ อบต.ตากูก อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ อบต.บางวัน อ.คุระบุรี จ.พังงา ทต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร ทต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และ อบต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น