(มีคลิป) วว. ร่วมกับพันธมิตรจังหวัดน่าน นำเทคโนโลยี ผลงานวิจัย นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตร พืชอัตลักษณ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน สังคม ให้ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563  เวลา 09.30 น. ณ วิสาหกิจชุมชน ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นเกียรติ และสักขีพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย “การใช้เทคโนโลยีผลงานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตร และพืชอัตลักษ์ของจังหวัดน่าน” ระหว่าง ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นายวิบูลย์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายศรีรุ่ง รัตนศิลา ประธานหอการค้าจังหวัดน่าน และนายชูศิลป์ สารรัตนะ ประธานวิสาหกิจชุมชนชีววิถี

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ความร่วมมือทั้ง 4 หน่วยงานในครั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการร่วมกันตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จังหวัดน่าน รวมทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุน ส่งเสริม และเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน และสังคมสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นในการวิจัย และพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ ของจังหวัดน่าน พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในการนําองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม(วทน.) ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร และชีวภาพ อาหาร เวชสําอางไทย ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาวิธีบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่จังหวัดน่าน ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าสร้าง และรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติ ของจังหวัดน่านไว้

นายวิบูลย์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย (วว.) ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนจังหวัดน่าน ในการพัฒนาต่อยอดวิสาหกิจชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน ได้อาศัยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีอยู่ คือใช้สมุนไพรพื้นบ้าน เช่น ใบหมี่ อัญชัญ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์จากน้ำนมข้าว ผลิตภัณฑ์แชมพูจากใบหมี่ อัญชัญ ซึ่ง (วว.) จะมาช่วยยกระดับโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสกัดสารตั้งต้น ในการผลิตเครื่องสำอางให้มีคุณภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดต้นทุน ที่สำคัญกลุ่มวิสาหกิจสามารถใช้โครงการ ฯ ของ (วว.) มาต่อยอดการทำธุรกิจขายสารสกัดนี้ให้กับกลุ่มที่ผลิตอื่น ๆ ได้ ถือเป็นพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของสิ่งที่มีอยู่เดิมของจังหวัดน่าน คือพืชพันธุ์สมุนไพรที่มีอยู่ จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และพัฒนาสังคมให้ยั่งยืนต่อไป

ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น