สดร. ชวนโต้รุ่งชม “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืน 13 ถึง รุ่งเช้า 14 ธันวาคม ณ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน เชียงใหม่ – หอดูดาวภูมิภาคโคราช และฉะเชิงเทรา

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชวนชมฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 13 ถึงรุ่งเช้า 14 ธันวาคม 2563 คาดปีนี้มีอัตราการตกเฉลี่ยมากถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง โอกาสดี ไร้แสงจันทร์รบกวน สังเกตด้วยตาเปล่าได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย แนะชมในที่มืดสนิท เตรียมตั้งจุดสังเกตการณ์ เชิญชวนผู้สนใจโต้รุ่งนอนนับฝนดาวตก 3 จุดหลัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ต. ออนใต้ อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมาและฉะเชิงเทรา

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธันวาคมของทุก ๆ ปี ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง ในคืนวันที่ 13 ธันวาคม 2563 สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เวลาประมาณ 20:30 น. จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ คืนดังกล่าวไม่มีแสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง


นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สนใจชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ แนะนำให้นอนชม เนื่องจากฝนดาวตกกระจายทั่วท้องฟ้า ฝนดาวตกเจมินิดส์มีจุดเด่นคือมีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประกอบกับมีอัตราตกค่อนข้างมากจึงสังเกตได้ง่าย สามารถมองเห็นได้รอบทิศ ถือเป็นโอกาสดีในการสังเกตการณ์ฝนดาวตก สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 13 – รุ่งเช้า 14 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 17:00 – 05:00 น. เชิญชวนผู้สนใจร่วมชมฝนดาวตกเจมินิดส์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 3 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา

เชียงใหม่ : สดร. ร่วมกับเทศบาลตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จัดกิจกรรม “โต้ลม ห่มหนาว นอนนับดาว ฝนดาวตกเจมินิดส์” ณ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ต. ออนใต้ อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ ใช้พื้นที่บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยลานที่ค่อนข้างมืด ปราศจากแสงไฟรบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ แนะนำการดูดาวเบื้องต้นและเทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตก ชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ และนอนนับฝนดาวตกตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้าและดูข้อมูลเพิ่มเติม https://darksky.narit.or.th/darkskyreserve/communities/huailan/ หรือโทร. 081-8854353
นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โทร. 044-216254
ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โทร. 038-589395

สำหรับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้เนื่องจากเป็นช่วงฤดูมรสุม
ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับสายธารของเศษหิน และเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า (Fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น