กรมอนามัย ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ ฯ ภาคเหนือ ตามนโยบายมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมครอบคลุมทุกกลุ่มวัย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเขตสุขภาพพื้นที่ภาคเหนือ 18 จังหวัด (เขตสุขภาพที่ 1, 2 และ 3) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราช-กุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เพื่อขยายผลการขับเคลื่อนมาตรการเฝ้าระวังเด็กและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ภายใต้นโยบายมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมครอบคลุมทุกกลุ่มวัย

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 นายแพทย์สมเกียรติ ขำนุรักษ์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 3 เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ ฯ ภาคเหนือ   ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์สปา อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ว่า กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนนโยบายมุ่งเน้นปีงบประมาณ 2564 ในประเด็น “การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม” ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยได้กำหนดเป้าหมายให้เด็กไทยเจริญเติบโตและมีพัฒนาการสมวัย ได้แก่ เด็กปฐมวัยอายุ 0-5 ปี มีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 85 และมีการเจริญเติบโตสูงดีสมส่วน ร้อยละ 62 ประเด็นดังกล่าวถือเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเด็กไทยที่มีคุณภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมประชากรไทยคุณภาพในอนาคต

“ทั้งนี้ จากผลการสำรวจข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของกรมอนามัย ตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบัน พบว่า ปัญหาพัฒนาการเด็กล่าช้าอยู่ที่ช่วงอายุ 3-5 ปี มากกว่าอายุ 0-2 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เด็กอายุ 3-5 ปี จะได้รับการดูแล   อยู่ที่ศูนย์เด็กเล็ก กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมแพทย์ทหารบก กระทรวงกลาโหม และกรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกันรณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั่วประเทศทั้งในและนอกศูนย์เด็กเล็ก และกำหนดเป็นมาตรการ     เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติฯ” สาธารณสุขนิเทศก์ กล่าว

ทางด้าน นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ส่งเสริมให้ทุกพื้นที่ร่วมกันดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรอง และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยใช้ “คู่มือเฝ้าระวังเด็กและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM : เล่มขาว) และ “คู่มือการประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง (DAIM :   เล่มเขียว) ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยง ผู้ดูแลเด็ก และประชาชนทั่วไปสามารถใช้คู่มือ DSPM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะทำการคัดกรองและกระตุ้นพัฒนาการเด็กทุกคนตามช่วงอายุ ได้แก่   ช่วง 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือน 42 เดือน และ 60 เดือน

“ทั้งนี้ ได้ขยายรูปแบบดังกล่าวจากโครงการคัดกรองและติดตามพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี  ในภาคเหนือตอนบน (LCDIP) สู่โครงการระดับประเทศ ซึ่งเกิดจากการเริ่มต้นและการสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากอดีตผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กปฐมวัย ได้แก่ นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงศิริกุล อิศรานุรักษ์ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนิตยา คชภักดี และนายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลความสำเร็จของพื้นที่ต้นแบบ รวมถึง  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ปฏิบัติงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยของบุคลากรสาธารณสุขพื้นที่ภาคเหนือ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 3 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนามาตรฐานอนามัยสิ่งแวดล้อม เครือข่ายหน่วยงานสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี เพื่อยกระดับคุณภาพโรงพยาบาลตามมาตรฐาน GREEN & CLEAN Hospital พร้อมสนับสนุนท้องถิ่นจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชนทุกกลุ่มวัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น