เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ใช้สิทธิ UCEP รักษาฟรี 72 ชม. กรณีที่เกิดภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง

UCEP (ยูเซป) หรือ Universal Coverage Emergency Patients เป็นสิทธิที่รัฐบาลทำให้ประชาชนคนไทยทุกคน ในกรณีที่เกิดภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง สามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ ณ จุดเกิดเหตุที่สุดได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน สามารถรักษาได้ฟรีไม่มีค่ารักษา โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่สนับสนุนจัดทำระบบข้อมูลและการเบิกจ่ายค่าบริการรักษาพยาบาล UCEP ให้กับประชาชนทุกสิทธิการรักษา ได้แก่ สิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม กรุงเทพมหานคร ข้าราชการท้องถิ่น และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รวมถึงสิทธิอื่น

ส่วนอาการที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤต มี 6 อาการ ดังนี้
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

สำหรับขั้นตอนการใช้สิทธิ UCEP มี 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
2. โรงพยาบาลประเมินอาการ และคัดแยกระดับความฉุกเฉิน
3. ศูนย์ประสานความคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล
4. กรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันที แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
5. กรณีไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต ให้รับประสานโรงพยาบาลตามสิทธิ หากประสงค์รักษาต่อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือโทร. 1330 และหากพบอาการที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งได้ที่ 1669

ขอบคุณข้อมูล และภาพจาก : Anti-Fake News Center Thailand

ร่วมแสดงความคิดเห็น