(มีคลิป) แม่ฮ่องสอน เดินหน้าปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ตั้งเป้าหมายลดการเผาป่าให้ได้ร้อยละ 50

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานใน การประชุมคณะทำงานปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ระดับจังหวัด (Warroom) ครั้งที่ 1 เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดด้วย ณ ห้องประชุมพญาพิศาลฮ่องสอนบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ในการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ที่ประชุม มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอนประจำปี พ.ศ.2564 รวมทั้งค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้มอบหมายให้คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ระดับจังหวัด (ศูนย์ Warroom) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอนประจำปี พ.ศ. 2564 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ในที่ประชุม ยังได้มีการเสนอแนวทางมาตรการในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอนประจำปี พ.ศ. 2564

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันบูรณาการเพื่อให้การประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการลดเผาป่า 50% ทั่วทุกพื้นที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง

ในวันเดียวกัน ( 18 ธ.ค.63 ) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า เพื่อให้การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ช่วงปลายปี 2563 ต้นปี 2564 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 จึงได้สั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ดำเนินการ 6 มาตรการ ได้แก่ 1.) ถือปฏิบัติตามหลักในการอำนวยการ สั่งการ ควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2.) ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุสำหรับใช้แก้ปัญหาในพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำรายละเอียดการแบ่งพื้นที่ การกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนถึงระดับอำเภอและตำบล ตลอดจนการจัดชุดปฏิบัติการที่สามารถเข้าไปยังจุดที่ก่อให้เกิดการเผาหรือการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ครอบคลุมในทุกพื้นที่ 3.) ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์การเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี อาทิ ภาพถ่ายดาวเทียม และ Application เสริมประสิทธิภาพการติดตามตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศและการบัญชาการดับไฟป่า ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลในการอำนวยการ สั่งการ และแจ้งเตือนประชาชน 4.) เน้นย้ำการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
สำหรับในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่จังหวัดภาคอื่นที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ให้ปฏิบัติตามมาตรการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ”

โดยในส่วน 4 พื้นที่ ได้แก่ 1.) พื้นที่ป่าสงวน/ป่าอนุรักษ์ โดยดำเนินการควบคุมไฟป่า จัดทำแนวป้องกันไฟ จัดกำลังลาดตระเวน บังคับใช้กฎหมาย ปิดป่าในช่วงประกาศห้ามเผา การทำป่าเปียก/ป่าชื้น ฯลฯ และการให้ผู้นำท้องที่ตั้งกฎกติกาการห้ามเผาป่าในหมู่บ้าน/ชุมชน และจัดทำบัญชีผู้มีพฤติกรรมเข้าป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ 2.) พื้นที่เกษตรกรรม โดยควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร จัดระเบียบบริหารเชื้อเพลิง รณรงค์การใช้สารย่อยสลายหรือไถกลบตอซังข้าว/ข้าวโพด/ซากวัชพืช ส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการแปรวัสดุการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า และจัดอาสาสมัครเฝ้าระวังไม่ให้เกษตรกรลักลอบเผา 3.) พื้นที่ชุมชน/เมือง ให้จังหวัด อำเภอ และอปท. กำหนดกติการ่วมกันของชุมชน โดยใช้กลไกประชารัฐ เฝ้าระวัง ป้องกัน การเผาในพื้นที่ชุมชน/เมือง การฟอกอากาศ/การสร้างเมืองต้นไม้ การกำหนดพื้นที่ปลอดมลพิษ (Safety Zone) และจัดชุดปฏิบัติการประจำตำบล/หมู่บ้าน ประชุมชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ให้ทราบมาตรการและแนวทางภาครัฐ 4.) พื้นที่ริมทาง โดยจัดกำลังอาสาสมัครภาคประชาชนลาดตระเวน เฝ้าระวัง และกำจัดเศษวัสดุ ขยะ ใบไม้แห้ง ที่เป็นเชื้อเพลิงในพื้นที่ริมทาง เพื่อไม่ให้มีเชื้อไฟและใช้เป็นแนวกันไฟ

และในส่วนมาตรการบริหารจัดการ 5 มาตรการ ได้แก่ 1.) ระบบบัญชาการเหตุการณ์ โดยให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดและอำเภอ เป็นองค์กรหลักในการอำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร และประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ 2.) สร้างความตระหนัก สร้างการรับรู้กับประชาชนทราบถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และการส่งเสริมให้ประชาชน นักเรียน เยาวชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า 3.) ลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยให้จัดทำแนวกันไฟ การควบคุมการเผา ส่งเสริมการใช้สารหมักชีวภาพเพื่อย่อยสลายตอซัง และการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาทำอาหารสัตว์ และกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท.คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน สอดส่อง ตักเตือน ห้ามปราม ผู้ที่จุดไฟเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยเฉพาะตามเขตรอยต่อระหว่างชุมชนกับเขตป่าไม้ 4.) การบังคับใช้กฎหมาย ให้กำชับเจ้าพนักงานตามกฎหมายบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และจับกุมผู้กระทำความผิดที่ลักลอบเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชน/เมือง และพื้นที่ริมทาง 5.) ทีมประชารัฐ โดยบูรณาการทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและกำหนดแนวทาง มาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น